รัฐ-เอกชนจุดประกายสตาร์ต อัพ หวังสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย

27 เม.ย. 2559 | 14:00 น.
ก.วิทย์ ผนึก 11 หน่วยงานรัฐและเอกชน เดินหน้าแจ้งเกิดสตาร์ต อัพไทย จัดงาน"Startup Thailand 2016" เปิดตัวธุรกิจ Start up กว่า 180 ราย หวังจุดประกายสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่ากระทรวงวิทย์ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้เป็นตัวแทนรัฐบาลและเจ้าภาพหลักในการจัดงาน "Startup Thailand 2016" ร่วมกับ 11 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนและมุ่งมั่นที่จะนำประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมศูนย์กลางของอาเซียน

ปัจจุบันไทยมีจำนวนนักธุรกิจสตาร์ต อัพประมาณ 1,000 – 2,500 ราย และในปีนี้รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดธุรกิจสตาร์ต อัพเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการขยายฐานเศรษฐกิจและการกระจายตัวให้มากที่สุด โดยธุรกิจสตาร์ต อัพ เหล่านี้จะไม่รวมตัวกันเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้นเพราะรัฐบาลมีนโยบายและวางแผนจะทำเขต Start up หรือ Start up Districtให้กระจายอยู่ทั่วประเทศ

สำหรับการจัดงาน "Start up Thailand 2016" ครั้งนี้จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด"Unite to Rise"ซึ่งเป็นการรวบรวมสตาร์ต อัพ และหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับสตาร์ต อัพทุกภาคส่วนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย. โดยเน้นการใช้สินค้าและบริการของสตาร์ต อัพ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ได้เปิดเวทีให้สตาร์ต อัพ ที่มีไอเดียดี มีความสามารถได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดเห็นและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมผลงานในการสร้างธุรกิจใหม่ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ที่มีประโยชน์แก่นักธุรกิจสตาร์ต อัพและนักลงทุน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและการร่วมทุน เพื่อส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต"

ดร.พิเชฐ กล่าวต่อไปว่าขณะนี้ไทยมีระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็มที่พร้อมในการสร้างให้เกิดสตาร์ต อัพ โดยมีทั้งทุน ที่รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงการคลัง จัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือที่เรียกว่ากองทุนหมื่นล้านบาท ขณะที่เอกชนร่วมมือกับภาครัฐสร้างเครือข่ายประชารัฐ

ด้านดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า "นโยบายของกระทรวงไอซีที ชัดเจนในเรื่องของการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ต อัพเพื่อให้เกิดความสอดคล้องและนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล(Digital Economy) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักด้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจผนวกกับไอทีกระทรวงมีเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปต่อยอดธุรกิจเพื่อยกระดับรายได้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตนอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภายใต้กระทรวง ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมให้การสนับสนุนนักธุรกิจสตาร์ต อัพ ได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่จะพัฒนาประเทศให้ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ต่อไป

รัฐบาลจริงจังในการบูรณาการ และให้การสนับสนุน ส่งเสริมสตาร์ต อัพ ซึ่งเชื่อว่า 2 ปี หลังจากนี้จะเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยไอซีทีได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เห็นชอบ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลอีโคโนมี 3 ฉบับ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในอีกวันที่ 29 เมษายน นี้

หากผ่านความเห็นชอบจากสนช. และประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีการจัดตั้งกองทุนเบื้องต้นใช้ชื่อว่า กองทุนดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมูลค่า 1 หมื่นล้านบาทขึ้นมาอีก 1 กองทุน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวกับดิจิตอลอีโคโนมี การพัฒนาคน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ การวิจัยและพัฒนา โดยรูปแบบจะมีทั้งการร่วมทุน และ การให้กู้ยืม โดยเม็ดเงินที่นำมาจัดตั้งกองทุนดังกล่าวส่วนหนึ่งจะมาจากงบประมาณ และเงินรายได้จากการประมูลใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมของ กสทช.

ด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ต ล่าสุดโครงการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปครอบคลุม 7 หมื่นหมู่บ้านภายในระยะเวลา 2 ปี ล่าสุดโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการเคเบิลใต้น้ำ ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับภาคเอกชนไปบ้างแล้ว ซึ่งมีเอกชนให้ความสนใจร่วมลงทุน

ด้านการพัฒนาบุคลากร ที่ผ่านมาได้มีการร่วมหารือกับสถาบันการศึกษา ที่ขณะนี้มีศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ ซึ่งจากการหารือกับจุฬาฯ ต้องการสร้างบุคลากรทางด้านการแพทย์และการท่องเที่ยว ส่วนลาดกระบัง ต้องการสร้างบุคลากรทางด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ ม.ศรีปทุม และม.กรุงเทพ ต้องการสร้างบุคลากรด้านครีเอทีฟ

อนึ่งงาน "Startup Thailand 2016" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "วิสัยทัศน์และพลังสร้างชาติด้วย Startup Thailand" โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ "การขับเคลื่อน Startup Thailand : ฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย" โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและ "Creative Economy : A Platform for Korean Startup Development" โดย ฯพณฯ ชเวยางฮี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวางแผนอนาคต ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมกันนี้ยังเปิดเวทีสัมมนาโดยเชิญ Startup ที่มีเชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ อาทิ หัวข้อ "Startup & New Investment Opportunities in Asia" โดย นายเดฟ แมคเคลอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง "500Startups"รวมถึงหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจและมีประโยชน์อีกมากมายตลอดภายในงานทั้ง 4 วัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559