ศึกชิงข่าวภาคเช้าปะทุ ทุกช่องแห่ดึงคนดู/หลัง‘สรยุทธ’บายจอช่อง 3

08 มี.ค. 2559 | 04:00 น.
เอ็กเรย์จุดเปลี่ยนรายการข่าวโทรทัศน์ หลัง "สรยุทธ" ขอพักออกจอ ช่อง 3 ส่ง "กุ๊ก-กฤติกา" ขัดตาทัพ “ช่อง 8” ฟุ้งเรตติ้งพุ่งทันตา มั่นใจสิ้นปีขึ้นผู้นำ “ไทยรัฐทีวี” มุ่งเสนอข่าวตรงใจ รักษามาตรฐานวิชาชีพ ด้าน “โมโน 29” เร่งสร้างฐานต่างจังหวัด สร้างเรตติ้งก่อนปรับขึ้นค่าโฆษณา “พีพีทีวี” ซุ่มประเมินสถานการณ์ ฟากสปอนเซอร์“ดีแทค” เบรกโฆษณาตั้งแต่ 3 มี.ค.นี้ ส่วนปตท.-ออมสินงดมา 3 ปีแล้ว

การประกาศถอดตัวของพิธีกรข่าวชื่อดัง "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" และช่อง 3 เลือกที่จะส่ง "กุ๊ก –กฤติกา" นั่งเก้าอี้คู่ไบร์ท พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒแทน ทำให้ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะส่งผลกระทบต่อเรตติ้งของรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" และทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของรายการข่าวภาคเช้า ที่แม้จะมีช่วงเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง แต่กลับมีผู้สนใจร่วมชิงเม็ดเงินโฆษณาจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นโอกาสของผู้ผลิตรายย่อยในการขยับขยายเรตติ้งให้เพิ่มสูงขึ้น หากเร่งปรับรายการให้เข้ากับพฤติกรรมผู้ชม

ต่อเรื่องนี้ดร. องอาจ สิงห์คำพอง กรรมการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ข่าวเช้าช่อง 8 มีเรตติ้งที่ดีขึ้นในทันที จากเดิมที่ช่อง 8 ค่อนเข้างเสียเปรียบในด้านการเข้าถึงผู้ชม โดยปัจจุบันรายการคุยข่าวช่อง 8 สามารถครองส่วนแบ่งตลาดกลุ่มผู้ชมข่าวเช้าได้แล้วประมาณ 40% และเชื่อว่าภายในปีนี้คุยข่าวช่อง 8 จะมีแชร์เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50% ของกลุ่มผู้ชมข่าวเช้าทั้งหมด

อย่างไรก็ดีบริษัทยังคงพัฒนารายการให้ดีต่อเนื่อง โดยเน้นคอนเซปท์ให้ผู้ชมสามารถเข้าใจง่าย เป็นข่าวใกล้ตัวกับผู้ชม เน้นความเป็นมิตรกับผู้ชม และต้องตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของช่อง 8 ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจุดเด่นของ "คุยข่าวช่อง 8" คือ เป็นรายการข่าวที่ผู้ชมทุกกลุ่มสามารถเข้าใจได้ง่าย ขณะที่คอนเทนท์ข่าวที่นำมาเสนอนั้นจะเป็นข่าวที่อยู่ในความสนใจของผู้ชม เช่น ตลาดทองคำ , ข่าวในกระแส เป็นต้น เนื่องจากมองว่าช่วงเวลาเช้าเป็นเวลาที่มีความสำคัญและมีมูลค่าไม่แพ้ช่วงเวลาค่ำ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับรายการข่าวเช่นเดียวกับละคร อีกทั้งในปัจจุบันบริษัทมองว่ารายการข่าวเช้าแม้จะมีผู้เล่นจำนวนมากที่นำเสนอคล้ายกัน แต่คู่แข่งตัวจริงของบริษัทมีเพียงแค่ 1-2 ช่องเท่านั้น

 ศึกชิงเรตติ้งข่าวเช้าปะทุ

สอดรับกับนายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฎิบัติการ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคลาสท์ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ "ไทยรัฐทีวี" ที่ระบุว่า การที่นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ไม่ได้ดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ทางช่อง 3 เชื่อว่ามีผลที่ทำให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องต่างที่จะต้องการช่วงชิงเรตติ้งมาสู่รายการข่าวภาคเช้าของช่องตนเอง แต่จะดึงเรตติ้งได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ยังมีองค์ประกอบหลายประการ แม้ว่าจะมีรูปแบบที่เหมือนกับรายการเรื่องเล่าเช้านี้ก็ตาม

"มองในเชิงการตลาดคุณสรยุทธได้สร้างสินค้าในรายการข่าวเช้า ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากช่วง 12 ปีก่อนหน้านี้ค่อนข้างสูง ทำให้คนหันมาดูรายการข่าวมากขึ้น เวลาคนเดือดร้อนก็จะนึกถึงคุณสรยุทธเพื่อมาขอความช่วยเหลือ ผู้หญิงก็หันมาดูข่าวมากขึ้นเพราะคุณสรยุทธ รายการข่าวของช่อง 3 ก็เข้าถึงคนจำนวนมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะคุณสรยุทธ และแม้ว่าวันนี้จะมีหรือไม่มีคุณสรยุทธ รายการข่าวทางทีวีก็แข่งขันกันรุนแรง เพื่อแย่งชิงเรตติ้ง"นายฉัตรชัยกล่าวและว่า

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทางช่อง 3 จะไม่นิ่งนอนใจคงจะต้องหาแนวทางและวิธีการในการรักษาฐานคนดูและเรตติ้งของตนเองไว้ ขณะที่ไทยรัฐทีวีเองก็มีการปรับปรุงรายการอย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่พอใจกับผลงานในช่วงที่ผ่านมา โดยจะมุ่งเน้นการทำงานโดยเสนอข่าวสารในสิ่งที่ผู้ชมต้องการ และรักษามาตรฐานทางวิชาชีพ และความเหมาะสมด้านต่างๆ ซึ่งทีวีทุกช่องน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนอัตราค่าโฆษณาทางรายการข่าวภาคเช้าของไทยรัฐทีวี ปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 โมโน 29 ขยับปรับขยายผู้ชมภูธร

เช่นเดียวกับนายบรรณสิทธิ์ รักวงษ์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล "MONO 29" บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ในเครือ โมโน กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันของรายการข่าวภาคเช้าค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว เพราะทีวีดิจิตอลทุกช่องต่างให้ความสำคัญ และส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่โมโนฯ ก็ให้ความสำคัญกับข่าวเช้าเช่นเดียวกันโดยมีทั้งรายการ Good Morning Thailand ออกอากาศช่วง 05.30 -7.00 น. มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.1 โดยใน 2-3 ปีข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าที่จะมีเรตติ้งเพิ่มขึ้นเป็น 0.5 และยังมีรายการข่าว Motion News ออกอากาศช่วง 8.45 -9.00 น. ซึ่งผู้ชมจำนวนมากส่งผลให้มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.3-0.5 และในอนาคตตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มเรตติ้งเป็น 0.8 โดยหากได้เรตติ้งตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็จะปรับอัตราค่าโฆษณาขึ้นทันที

"ไม่ว่าจะเกิดกรณีคุณสรยุทธหรือไม่ก็ตาม บริษัทยังคงพัฒนาผังรายการในฐานะสื่อสารมวลชนเช่นเดิม ซึ่งจุดแข็งของรายการข่าวโมโนคือสั้น กระฉับ เข้าใจง่าย ประกอบกับการสร้างความแตกต่างโดยการผลิตเนื้อหาสกู๊ป 5 Minute Big Hero เพิ่มเข้ามา"

 หาเหตุสินค้าถอนโฆษณา

ขณะที่นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัดผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี กล่าวว่า ปัจจุบันรายการข่าวเช้าในประเทศไทยมีผู้นำอยู่แล้ว 3-4 ช่องดังนั้นการจะเข้าไปแข่งขันชิงเรตติ้งกับตลาดกลุ่มนี้ค่อนข้างลำบาก แต่อย่างไรก็ตามบริษัทมองว่าแม่เหล็กของรายการข่าวยังเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่แม่เหล็กนั้นไม่ใช่การซื้อตัว แต่ต้องสร้างขึ้นมาแม้จะต้องใช้ระยะเวลานานก็ตาม ขณะเดียวกันในแผนบริหารผังรายการข่าวในปีนี้บริษัทเน้นที่รายการข่าวค่ำช่วงเวลา 18.00- 20.00 น.ก่อน พร้อมทั้งเตรียมเพิ่มเนื้อหาข่าวประเภท เศรษฐกิจ ต่างประเทศ และสกู๊ปให้มากขึ้น

"กรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะดีหรือแย่อย่างไร เนื่องจากต้องรอดูผลก่อนว่าหลังจากนี้สปอนเซอร์หรือผู้สนับสนุนจะถอนสินค้าออกจากรายการมากน้อยแค่ไหน เพราะหากสินค้าถอนออกในขณะที่แม่เหล็กสำคัญออกไปแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าการถอนสินค้าออกไม่ใช่เป็นที่ตัวแม่เหล็กหรือคุณสรยุทธเป็นเหตุเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นปัจจัยอื่นๆที่มีอิทธิพลเข้ามาตัดสินใจ"

 เช้านี้ที่หมอชิตครองแชมป์ มค. 59

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลเรตติ้ง เอซี นีลเส็น ที่เก็บข้อมูลการดูรายการข่าวภาคเช้าเริ่มตั้งแต่เวลา 6.00 น. ในกลุ่มผู้ชายและหญิง อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2559 พบว่า รายการ "เช้านี้ที่หมอชิต" ช่อง 7 HD ครองอันดับ 1 มีเรตติ้งเฉลี่ย 2.892 ขณะที่ "เรื่องเล่าเช้านี้" ของช่อง 3 HD มีเรตติ้งเฉลี่ย 2.682 โดยเหตุผลสำคัญคือเรื่องของเนื้อหาข่าวของช่อง 7 ที่กระชับฉับไว และครอบคลุมในทุกประเด็น ขณะที่ช่อง 3 จะเน้นรายละเอียดมากเกินไป ส่วนอันดับ 3 ไ ด้แก่ "สนามข่าว 7 สี" เรตติ้ง 2.145 อันดับ 4 "คุยข่าวช่อง 8" เรตติ้ง 0.787 และอันดับ 5 "คุยโขมงข่าวเช้า" 0.303 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในตาราง)

 แนะเพิ่มพิธีกรชายมืออาชีพ

นายอลงกรณ์ ชูจิตร รองกรรมการ บริษัท แอลจี เลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า "แอลจี" หนึ่งในแฟนประจำรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ภายหลังที่คุณสรยุทธ ประกาศยุติการเป็นพิธีกรเรื่องเล่าเช้านี้ เชื่อว่าจะส่งผลทำให้รายการได้รับความนิยมลดน้อยลงอย่างแน่นอนแต่ขณะเดียวกันเรื่องคอนเทนต์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ชมในยุคนี้คำนึงถึง หากรายการมีการปรับคอนเทนต์และพิธีกรให้เข้าที่หรือตอบโจทย์ได้มากขึ้นก็จะไม่มีผลกระทบต่อผู้ชมมากนัก

"โดยส่วนตัวจะใช้เวลาราว 30 - 60 นาทีในการดูข่าวรอบช่วงเช้าก่อนไปทำงาน ส่วนใหญ่จะดูสับเปลี่ยนกันอยู่ 3 ช่องคือ ช่อง 3 ของคุณสรยุทธ , เนชั่นทีวี และไทยรัฐทีวี หากถามว่าต่อจากนี้จะดูรายการข่าวช่วงเช้าช่อง3 ต่อหรือไม่ ส่วนนี้มองว่าไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลแต่เกี่ยวกับว่าช่องไหนมีคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ในการดูได้ อย่าลืมว่ากปัจจุบันมีช่องทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นมากทำให้ผู้บริโภคไม่ยึดติด"

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามมองว่ารายการเรื่องเล่าเช้านี้จะต้องมีการเพิ่มพิธีกรชาย เพื่อสร้างสีสันและความเข้มข้นของรายการ ซึ่งคนที่จะมานั่งแท่นแทนที่จะต้องเป็นคนที่มีความสามารถและคุณสมบัติในหลายๆด้าน โดยเฉพาะทักษะด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างคุณกิตติ สิงหาปัด หรือคุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ (หากไม่มีเรื่องต้นสังกัดมาเกี่ยวข้อง) เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันเชื่อว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของช่อง 3

"ในอนาคตระยะยาวก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคุณสรยุทธ จะกลับมาทำหน้าที่ดำเนินรายการได้เมื่อไร จึงมั่นใจว่าจะต้องมีการปรับรูปแบบและผู้ดำเนินรายการอย่างแน่นอน"

 "ดีแทค" ไม่ตอบทบทวนงบใหม่

ส่วนความเห็นจากกลุ่มบริษัทที่เป็นลูกค้าลงโฆษณาผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้,เรื่องเด่นเย็นนี้ และ เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์นั้น แหล่งข่าวจาก บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ดีแทค ได้ตัดสินใจยุติการสนับสนุนทั้ง 3 รายการไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมาส่วนจะมีการทบทวนหลังช่อง 3มีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำเนินการ ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้

"ดีแทค ถือว่าเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับเรื่องเล่าเช้านี้-เรื่องเด่นเย็นนี้ และ เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และมีรายงานข่าวว่าใช้งบเดือนละประมาณ2-3 ล้านบาท" ด้านแหล่งข่าวจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ปัจจุบัน เอไอเอส ยังไม่ได้ลงโฆษณากับทั้ง 3 รายการ ของ นายสรยุทธ เนื่องจากนโยบาย ของ เอไอเอส การลงโฆษณาจะเป็นลักษณะแคมเปญ เช่น การเปิดตัว 4จีแอดวานซ์ เป็นต้น

 ปตท.ยันถอดโฆษณามา 2 ปีแล้ว

เมื่อสอบถามไปยังริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับแจ้งว่า ปตท.ไม่ได้ลงโฆษณากับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด และรายการของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากทางสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีหนังสือถึงบริษัทจดทะเบียน เพื่อขอความร่วมมือองค์กรในตลาดทุนผนึกกำลังแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งให้พิจารณาอย่างรอบคอบในการทำธุรกรรมทางการเงินกับบุคคลหรือองค์กรที่เข้าข่าย

 ออมสินย้ำไม่ได้ซื้อโฆษณามา 3 ปี

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารออมสิน ไม่ได้ซื้อโฆษณาในรายการเรื่องเล่าเช้านี้และเรื่องเล่าเสาร์ อาทิตย์ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มาตั้งแต่พฤศจิกายน 2555 ตามแนวทางการปฏิบัติเพื่อกำกับการปฏับัติการและธรรมาภิบาลที่ดี รวมเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว อย่างไรก็ดีธนาคารออมสินเคยโฆษณาผ่านทั้งสองรายการมาตั้งแต่ปี 2550 แต่เป็นสัญญาทุก 3 เดือนก่อนที่จะยุติสัญญาสุดท้ายในปี 2555

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559