เปิดเออีซีนายจ้างได้ประโยชน์ ลูกจ้างเอาต์ซอร์ซถูกลิดรอนสิทธิ์ จี้รัฐยกระดับคุ้มครอง

26 ม.ค. 2559 | 13:00 น.
ประธานคสรท. ชี้เปิดตลาดเออีซีนายจ้างได้ประโยชน์ ลูกจ้างเอาต์ซอร์ซถูกลิดรอนสิทธิ์ทางกฎหมาย จี้รัฐยกระดับการคุ้มครองสิทธิการทำงานในมาตรฐานเดียวกันทั้งไทยและต่างด้าว และจะต้องพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งทักษะ และ ภาษา ย้ำต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 360 บาทต่อคนต่อวันเท่ากันทั้งหมดทั่วประเทศ ด้านนายจ้างบอกจุดยืนเหมือนเดิมคือให้ไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา และไม่เห็นด้วยให้เท่ากันทั่วประเทศ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ปี2559 เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ก็จะเห็นชัดถึงการไหลมาของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีการไหลเข้า-ออก มีเสรีภาพมากขึ้น คนได้ประโยชน์คือผู้ประกอบการ ที่ได้รับลดหย่อนภาษี มีการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐและอำนวยความสะดวกแบบไม่มีเงื่อนไข

ทั้งนี้การอำนวยความสะดวกแบบไม่มีเงื่อนไข ในมุมมองส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะการจ้างแรงงานแบบเอาต์ซอร์ซจะมีมากขึ้น จะไม่ดีต่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ทำให้ลูกจ้างถูกลิดรอนสิทธิ์ทางกฎหมายไม่เหมือนพนักงานประจำ เช่น 1.ลูกจ้างไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานทั้งหมดอย่างทั่วถึง เช่น สวัสดิการ ค่าจ้างขั้นต่ำ มีแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 10 ล้านคน และที่มีได้แจงเข้าระบบอีกจำนวนมาก การไหลเข้าของแรงงานต่างด้าวจะต้องเข้ามาภายใต้ MOU ระหว่างรัฐต่อรัฐ ระยะเวลา 4 ปี และต่ออายุได้อีก 2 ปีตามข้อตกลงMOU ตรงนี้ทำให้นายจ้างมีโอกาสเลือกคนมาทำงานได้มากขึ้น

ขณะที่แรงงานไทยที่มีความรู้ก็จะไหลออกไปเพื่อบ้านมากขึ้น คนที่มีความรู้ มีประสบการณ์ก็ไหลออกไปเพื่อนบ้านมีรายได้สูงกว่า อย่างไรก็ตามการเปิดเออีซีถือว่าเอื้อประโยชน์ต่อสถานประกอบการ แต่ลูกจ้างจะเสียเปรียบมากขึ้น

ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรจะปฏิบัติ คือ 1.ยกระดับการคุ้มครองสิทธิการทำงานในมาตรฐานเดียวกันทั้งไทยและต่างด้าว ให้มีกฎหมายคุ้มครองอยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งค่าจ้าง สวัสดิการ ตามกฎหมายที่แต่ละประเทศมีอยู่แล้ว ทั้งที่ไทยปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าว และประเทศอื่นปฏิบัติต่อแรงงานไทย เพราะคำว่าอาเซียนจะต้องครอบคลุมให้เหมือนกันทั้งหมด โดยรัฐควรจะนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และจะต้องทำความเข้าใจระหว่างรัฐต่อรัฐ

2.การเป็นเออีซีจะต้องมองเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งทักษะ ภาษา เช่น การให้ความสำคัญต่อการเปิดโรงเรียนสอนภาษา การฝึกอาชีพ ที่ควรมีการสำรวจว่าแรงงานต้องการฝึกอาชีพอะไร การส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามที่รัฐบาลประกาศไว้นั้นในแง่ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติให้ได้จริง

ส่วนภาพรวมเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในปันจุบันไม่สอดคล้องกับคุณภาพชีวิต ที่ค่าแรงขั้นต่ำยังยึดที่ 300 บาทต่อวันต่อคน ดังนั้นในปี 2559 ยังตอกย้ำเหมือนเดิมว่า ควรมีการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศ ที่ก่อนหน้านี้ได้เสนอไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 360 บาทต่อคนต่อวันเท่ากันทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

ด้านนายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานงานแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงการเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า จุดยืนในส่วนของนายจ้างยังเหมือนเดิมคือมอบหมายให้คณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา โดยคณะไตรภาคีจะต้องพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อและจีดีพีของประเทศ และดูเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน รวมถึงดูความจำเป็นและความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานด้วย สุดท้ายผลการพิจารณาของไตรภาคีจะออกมาในลักษณะไหนก็ให้ไปตามนั้น แต่ไม่เห็นด้วยที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัด เพราะเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดเติบโตไม่เท่ากัน ส่วนการเปิดเออีซี ในขณะนี้ยังไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการจ้างงาน เนื่องจากก่อนที่จะเปิดเออีซี(1ม.ค.59) ในไทยได้มีการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงข้อดีในการรวมเออีซีเป็นตลาดเดียวว่าจะทำให้นายจ้างมีโอกาสเลือกคนเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น โดยการจ้างงานยังอยู่ภายใต้กฎหมายของแต่ละประเทศที่ปฏิบัติอยู่

สำหรับประเทศไทยขณะนี้มีแรงงานไทยที่อยู่ในระบบเอาต์ซอร์ซมีประมาณ 10-11 ล้านคนอยู่ในระบบประกันสังคม และเป็นแรงงานนอกระบบ ประมาณ 30 ล้านคน ส่วนแรงงานต่างด้าวในไทยที่ขึ้นทะเบียนแล้วมีประมาณ1.6 ล้านคน ส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนมีตัวเลขหลากหลายจากหลายสถาบัน บางแห่งก็ระบุว่ามีจำนวน 5 ล้านคน หรือ 7 ล้านคน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559