นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การดำเนินโครงการยกระดับโครงข่ายความทันสมัย (Network Modernization) ได้ดำเนินการแล้วกว่า 64% ของแผนงาน หรือกว่า 10,800 สถานีฐาน โดยผลจากการพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้เครือข่ายมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในหลายด้าน ทั้งความเร็ว 5G ที่เพิ่มขึ้น 48% ความเร็ว 4G ที่เพิ่มขึ้น 13% และการรองรับแบนด์วิธที่เพิ่มขึ้น 35% (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2567) รองรับการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งาน 5G ที่ปัจจุบันมีมากถึง 12.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 5.4% จากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ทรูฯ ตั้งเป้าหมายพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
นอกจากนี้ทรู คอร์ปอเรชั่น ย้งเดินหน้ายกระดับสู่เครือข่ายอัจฉริยะด้วย AI ผ่านกลยุทธ์ “3Zero” สู่เป้าหมาย 3 ปี ประกอบด้วย
Zero Touch : นวัตกรรมเครือข่ายอัตโนมัติขั้นสูงที่ผสานพลัง AI และ Machine Learning เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการแบบ AI-powered closed-loop automation ที่เพื่อตรวจจับ วิเคราะห์ แก้ไข และยืนยันการแก้ปัญหาแบบอัตโนมัติ มุ่งยกระดับประสิทธิภาพการบริหารโครงข่ายให้สูงขึ้น 80% พร้อมลดการใช้พลังงานลง 30% และป้องกันความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานได้ถึง 80%
Zero Wait : ระบบ AI ที่ปรับแต่งเครือข่ายแบบเรียลไทม์ตามพฤติกรรมผู้ใช้งานแบบไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายทันที เพื่อประสบการณ์สูงสุดในทุกสถานการณ์ เช่น กรณีมีการรวมตัวใช้งานของกิจกรรมต่างๆ เช่น พื้นที่จัดคอนเสิร์ต หรือกิจกรรมที่มีผู้ใช้งานหนาแน่น โดยตั้งเป้าเพิ่มความเร็วในการปรับแต่งเครือข่าย 50% พร้อมแก้ไขปัญหาลูกค้าได้เร็วขึ้น 3-4 เท่า
Zero Trouble : ระบบ AI วิเคราะห์ข้อมูลเครือข่ายแบบเรียลไทม์เพื่อคาดการณ์และป้องกันปัญหา พร้อมวางแผนบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Proactive Maintenance) โดยตั้งเป้าลดเวลาเครือข่ายขัดข้อง 40% ลดข้อร้องเรียน 40% และเพิ่มความพึงพอใจลูกค้า (NPS) 30% ภายใน 3 ปี
ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงมุ่งพัฒนาการให้บริการที่ครอบคลุมทุกมิติของสังคม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “Tech for Good” โดยมีการใช้เทคโนโลยีเครือข่ายช่วยแก้ปัญหาสังคม เช่น โครงการ True Smart Early Warning System (TSEWS) ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ใช้เครือข่ายสมรรถนะสูงในการเฝ้าระวังช้างป่า เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนและสัตว์ป่า ซึ่งนับเป็นตัวอย่างของการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
“การรวมโครงข่ายระหว่างทรูและดีแทคได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อในพื้นที่ที่เคยมีปัญหาสัญญาณ เช่น พื้นที่ชนบท หรือพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานคลื่นความถี่ เช่น 700 MHz และ 2600 MHz ที่รองรับการใช้งานหลายช่องทาง พร้อมส่งมอบประสบการณ์การใช้งานอินเตอร์เน็ตและบริการดิจิทัลที่ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น”
นายประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า “การรวมโครงสร้างพื้นฐานช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย และทรู มุ่งมั่นที่จะส่งมอบบริการที่ตอบโจทย์ทั้งความต้องการของลูกค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”