ETDA ประกาศคู่มือใหม่! คุมเข้ม ‘มาตรฐานสินค้า’ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล

19 ก.ย. 2567 | 09:42 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 10:00 น.

ETDA เดินหน้าเสริมกลไกกำกับธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ประกาศคู่มือ“การดูแลเกี่ยวกับการขายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน ของสินค้าบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” แนวทางสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เร่งปิดช่องโหว่! สินค้าไม่มีมาตรฐาน มอก. และ อย.

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวว่าปัญหาซื้อขายสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อหุงข้าว ปลั๊กไฟ ที่ไม่ผ่านตามมาตรฐานหรือคุณภาพของสินค้า ตามที่ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก.

ETDA ประกาศคู่มือใหม่! คุมเข้ม ‘มาตรฐานสินค้า’ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล

รวมไปถึง สินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเช่น ยา เครื่องสำอาง ที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากมาตรฐานอาหารและยา หรือ อย. เป็นต้น กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

โดยจากสถิติการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA พบว่า เพียงครึ่งปี 2567 (มกราคม-พฤษภาคม) มีเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ถึง 11,629 เรื่อง โดยเรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุดคือปัญหาซื้อขายสินค้าออนไลน์ เช่น อาหารเครื่องดื่ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถึง 45.67% ส่วนใหญ่เป็นปัญหาสินค้าไม่ตรงปก โอนเงินแล้วได้ของที่ไม่ได้มาตรฐาน

ETDA ประกาศคู่มือใหม่! คุมเข้ม ‘มาตรฐานสินค้า’ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล

โดยสิ่งเหล่านี้สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคทั้งทางร่างกาย สุขภาพ ทรัพย์สิน ความเชื่อมั่นต่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจไทยที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ต้องเสียเปรียบในการแข่งขัน เพราะสินค้าลอกเลียนแบบที่ไม่ได้มาตรฐาน ราคาถูก แต่แฝงไปด้วยความเสี่ยง จนกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวมของประเทศ

โดยสาระสำคัญของคู่มือนี้จะครอบคลุม ตั้งแต่การกำหนดนโยบายการขายหรือโฆษณาสินค้าตามชนิดหรือประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีมาตรฐาน ที่ต้องประกาศให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างชัดเจนอย่างน้อยๆ ต้องกำหนดคุณลักษณะของสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ หม้อหุงข้าว ปลั๊กไฟ ต้องแสดงภาพสินค้าที่โชว์เครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และรหัสคิวอาร์ (QR Code)

สำหรับในส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องสำอาง ต้องมีฉลากที่แสดงภาพสินค้า ชื่อ ที่อยู่ของผู้ผลิตหรือ นำเข้า เลขที่อนุญาตการผลิต เลขที่อนุญาตโฆษณา และต้องมีการกำหนดข้อจำกัดในการขายหรือโฆษณาสินค้าเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาทิ อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ให้เป็นสินค้าที่ถูกจำกัดการขายหรือโฆษณา ที่ผู้ประกอบการในฐานะผู้ขาย ต้องส่งเอกสารประกอบการขายหรือโฆษณาให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนขาย หรือการกำหนดให้ สินค้าจำพวก ยา (ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน) วัตถุเสพติด เป็นสินค้าห้ามขาย

นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดในการตรวจสอบข้อมูลสินค้าและความเป็นผู้ประกอบการก่อนเผยแพร่ (Screening) เช่น สินค้าจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับใบรับรองหรือหลักฐานที่แสดงได้ว่าผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว พร้อมนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เก็บสินค้า ในส่วนของการสมัครใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของผู้ขาย จะต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เช่นการใช้ Digital ID (การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล)

สำหรับผู้ประกอบการที่สมัครเพื่อขายหรือโฆษณาสินค้าบนแพลตฟอร์ม เช่นกรณีเคยตรวจสอบมาแล้วโดยผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ThaID กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือ IdP  (Identify Provider) อื่น รวมถึงการที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีเองตอนสมัครใช้งาน คู่มือฉบับนี้ได้มุ่งเน้นที่ระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตนที่ระดับ IAL2 (Identity Assurance Level) เป็นอย่างน้อย

สำหรับผู้ประกอบการคนไทยหรือในระดับที่เหมาะสมสำหรับชาวต่างชาติ หรือวิธีอื่นๆ ตามที่คู่มือกำหนด การดำเนินการขณะเผยแพร่สินค้า (Ongoing Monitoring) ควรจัดให้มีการแสดงข้อมูลสินค้าเป็นภาษาไทยอย่างชัดเจนบนหน้าแสดงผลของแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถอ่านและเข้าใจข้อมูลได้ง่าย เช่น สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่แสดงว่าผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว ข้อมูลของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า สถานที่ผลิตหรือนำเข้า รายละเอียดของสินค้า ใบรับรองหรือหลักฐานการผ่าน มอก. หรือ อย. ข้อมูลเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น และต้องช่วยให้ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าสามารถแสดงภาพสินค้า และสัญลักษณ์มาตรฐาน บนหน้าแสดงผลของแพลตฟอร์มได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และมีลิงก์หรือช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้             

และสุดท้ายคือ มาตรการภายหลังการเผยแพร่ (Post-Publication) ทั้ง การตรวจสอบคุณภาพของผู้ประกอบการ ผ่านจำนวนและประเภท Report, การปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไข นโยบาย หรือมาตรฐานชุมชน และการจัดทำทะเบียนประวัติของผู้ประกอบการที่ควรพึงระวัง (Watchlist) และผู้ประกอบการที่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการขายหรือโฆษณาสินค้าที่ต้องมีมาตรฐาน (Blacklist) นอกจากนี้ยังควรมีการตรวจสอบการเสนอหรือการโฆษณาสินค้า ด้วยระบบอัตโนมัติหรือเจ้าหน้าที่ และต้องระบุเกณฑ์ (criteria) ในการรีวิวสินค้าไว้ในข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งาน การมีกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน       พร้อมกำหนดวิธีการในการตรวจสอบและแจ้งผลให้ผู้ร้องเรียนทราบโดยเร็ว เป็นต้น