"ทีวีดิจิทัล" ขานรับแผนทดลองทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ

10 ก.ย. 2567 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2567 | 04:28 น.

ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลและผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีภาคพื้นดิน พร้อมเข้าร่วมแผนทดลองทดสอบระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เร่งเดินหน้าหวังกระจายข่าวสารแจ้งเหตุกับประชาชน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Warning System : EWS) ในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้เข้าร่วมประชุม  โดยที่ผ่านมาได้หารือแนวทางดำเนินการร่วมกับผู้ให้บริการโครงข่ายให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินผ่านช่องรายการทีวีดิจิทัล และพยายามผลักดันให้เกิดแผนงานที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดให้มีช่องทางสื่อสารเฉพาะกิจในห้วงเวลาที่อาจเกิดภัยพิบัติธรรมชาติเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปในทุกภูมิภาคมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับภัยธรรมชาติก่อนที่จะเกิดเหตุ รวมถึงรับทราบข้อมูลเพื่อการป้องกันแก้ไขและเยียวยา เมื่อภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ที่จะดำเนินการได้ตามแผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ USO ด้านวิทยุและโทรทัศน์

การประชุมหารือครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก กองทัพบก โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ซึ่งได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน Emergency Warning System (EWS) สำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลขึ้น และมีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอดำเนินการทดลองทดสอบระบบดังกล่าว โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อบรรเทาผลกระทบและยับยั้งความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ กสทช. พิจารณาอนุญาตและส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการโดยเร็ว ด้วยปัจจุบันปัญหาจากภัยพิบัติจากความแปรปรวนทางธรรมชาติ ทั้งอุทกภัยและดินถล่ม ปรากฏการณ์ rain bomb และน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงเหตุฉุกเฉินต่างๆ เช่น เหตุอาชญากรรมที่มีความรุนแรง หรือแหล่งเก็บสารเคมีรั่วไหลในหลายพื้นที่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและกระทบต่อประชาชนโดยตรง

 

ทั้งนี้ การดำเนินการตามแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการสาธารณภัย หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจำเป็นต้องมีความเข้าใจและทำงานสอดประสานกันได้อย่างไม่ติดขัด ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด กสทช. จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการส่งเสริมการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ และต้องเร่งรัดภารกิจการแจ้งเตือนภัยทั้งบนระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล

‘ทีวีดิจิทัล’ ขานรับแผนทดลองทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ

 

ด้านผู้ประกอบการโครงข่าย หรือ MUX และ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน สะท้อนความเห็นต่อที่ประชุม ว่า เป็นการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ และช่องรายการต่างๆ ยินดีที่จะเข้าร่วมการทดลองทดสอบดังกล่าว เพื่อนำข้อสรุปมาจัดทำแผนดำเนินการจริง โดยขอให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินการของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตามในขั้นตอนนี้ควรกำหนดแผนการทดลองทดสอบและร่วมกันพิจารณาให้เกิดความชัดเจนสามารถส่งสารให้ประชาชนรับรู้ได้โดยไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก และ ควรมีการกำหนดร่วมกัน ทั้งขั้นตอนดำเนินการ ลักษณะและรูปแบบการสื่อสารทั้งข้อความหรือภาพรายการแจ้งเตือน พื้นที่และวันเวลาที่แน่นอนในการทดลองทดสอบการแจ้งเตือนสำหรับภัยพิบัติในระดับต่างๆ

นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการทดลองทดสอบการแจ้งเตือนภัยในครั้งนี้ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับระดับการแจ้งเตือนภัยในแต่ละเรื่อง ทั้งยังคาดหวังให้สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานงานระหว่างผู้ประกอบการต่อไป.