โจรไซเบอร์ ไม่แผ่ว! ไตรมาส 2 ยอดโจมตีเกือบ 2 แสนครั้ง มาจากเซิร์ฟเวอร์ในไทย

05 ก.ย. 2567 | 03:25 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2567 | 03:43 น.

แคสเปอร์สกี้ เผยตัวเลขที่น่าตกใจ พบว่าเหตุการณ์อันตรายทางไซเบอร์ที่เกิดจากเซิร์ฟเวอร์ที่โฮสต์อยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 (เมษายน - มิถุนายน) โดยพบเหตุการณ์โจมตี 196,078 ครั้ง เพิ่มขึ้น 203.48%

รายงานล่าสุดของแคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจ เมื่อพบว่าเหตุการณ์อันตรายทางไซเบอร์ที่เกิดจากเซิร์ฟเวอร์ที่โฮสต์อยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 (เมษายน - มิถุนายน) แคสเปอร์สกี้ตรวจพบเหตุการณ์โจมตี 196,078 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นมากถึง 203.48% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว ซึ่งพบเหตุการณ์ 64,609 ครั้ง

โจรไซเบอร์ ไม่แผ่ว! ไตรมาส 2 ยอดโจมตีเกือบ 2 แสนครั้ง มาจากเซิร์ฟเวอร์ในไทย

และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรายไตรมาส ในไตรมาสที่ 2(เมษายน - มิถุนายน) ของปี 2024 ตรวจพบเหตุการณ์ทางไซเบอร์ 196,078 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่ 1 (มกราคม - มีนาคม) ที่พบเหตุการณ์ 157,935 ครั้งมากถึง 24.15%

ผู้ก่อภัยคุกคามไซเบอร์ใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ถูกโจมตีเพื่อโฮสต์เว็บไซต์ที่ใช้ส่งมัลแวร์ไปยังผู้ใช้ที่ไม่ทันระมัดระวัง และถูกล่อลวงไปยังเว็บไซต์อันตรายผ่านโฆษณาปลอม ลิงก์ฟิชชิงในอีเมล SMS และวิธีอื่นๆ หลังจากนั้นผู้ก่อภัยคุกคามไซเบอร์จะสำรวจคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของเหยื่อเพื่อหาช่องโหว่และการรั่วไหล เมื่อผู้ใช้ประสบพบเจอกับภัยคุกคามไซเบอร์ดังกล่าว โซลูชันของ แคสเปอร์สกี้จะตรวจจับและบล็อกภัยคุกคามนั้น และยังค้นหาและบันทึกแหล่งที่มาของภัยคุกคามนั้นด้วย

โจรไซเบอร์ ไม่แผ่ว! ไตรมาส 2 ยอดโจมตีเกือบ 2 แสนครั้ง มาจากเซิร์ฟเวอร์ในไทย

ในปี 2566 ภัยคุกคามไซเบอร์ของไทยเพิ่มขึ้น 114.25% จากปีก่อน โดยกลุ่มที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีมากที่สุดคือหน่วยงานด้านการศึกษา (632 ครั้ง) รองลงมาคือหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ (461ครั้ง) ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และบริษัทเอกชน (148 ครั้ง) และการเงินการธนาคาร (148 ครั้ง) ภัยคุกคามที่พบบ่อยที่สุดในปี 2566 คือ การโจมตีที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ รองลงมาคือการแฮ็กเพื่อเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ (defacement) และการสร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อดักขโมยข้อมูล

จำนวนเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกบุกรุกเพิ่มมากขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่

• ความนิยมในการทำงานจากระยะไกลที่เพิ่มมากขึ้น: การทำงานจากบ้านและการใช้ดีไวซ์ส่วนตัวเพื่อทำงาน ทำให้จำนวนอุปกรณ์และเครือข่ายที่ไม่มีการรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ที่ใช้เข้าถึงข้อมูลขององค์กร อุปกรณ์ที่ถูกละเมิดนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ก่อภัยคุกคามไซเบอร์เข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ในอินทราเน็ตขององค์กรได้

• มาตรการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ขาดประสิทธิภาพ: บางองค์กรอาจมีมาตรการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่อ่อนแอ เช่น ซอฟต์แวร์ที่ล้าสมัย ขาดไฟร์วอลล์ หรือมีระบบตรวจจับการบุกรุกไม่เพียงพอ

• ขาดการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์: องค์กรธุรกิจและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยไซเบอร์ และไม่ได้ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อปกป้องระบบของตน

• การเพิ่มขึ้นของแรนซัมแวร์: แรนซัมแวร์จะเข้ารหัสไฟล์ของเหยื่อและเรียกค่าไถ่เพื่อแลกกับการถอดรหัสไฟล์ ผู้โจมตียังใช้กลวิธีรีดไถเพื่อกดดันให้เหยื่อจ่ายค่าไถ่ ซึ่งเป็นวิธีการปกติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และทำให้ธุรกิจเสียหายอย่างมาก

• กลโกงฟิชชิง: การหลอกลวงด้วยฟิชชิงเป็นวิธีการทั่วไปในการหลอกล่อเหยื่อเอาข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เพื่อเข้าถึงเครือข่ายของเหยื่อ

• ขาดกฎระเบียบที่ครอบคลุม: กฎระเบียบด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่ครอบคลุมและกลไกการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ กฎระเบียบนี้ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องรับผิดชอบต่อแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยไซเบอร์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

นายเซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “เหตุการณ์ไซเบอร์ที่เกิดจากเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกบุกรุกในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส การเพิ่มขึ้นนี้ถือเป็นเรื่องน่าตกใจและอาจส่งผลร้ายแรงต่อธุรกิจและผู้ใช้ทั่วไป การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยแนวทางที่ครอบคลุม ซึ่งรวมถึงความคิดริเริ่มของภาครัฐบาล ความร่วมมือในแวดวงความปลอดภัยไซเบอร์ และความรับผิดชอบส่วนบุคคล”

“รัฐบาลของไทยได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างชัดเจน โดยจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อสืบสวนและดำเนินคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ รวมถึงแคสเปอร์สกี้ เราทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐบาล และขยายโครงการริเริ่มต่างๆ ในวงกว้าง เช่น โปรแกรมเสริมสร้างศักยภาพ โครงการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาและนำนโยบายไปปฏิบัติ และแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ของภาคสาธารณะ เราตั้งเป้าที่จะทำให้ไซเบอร์สเปซในประเทศไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น”