นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมมือกับกรุงศรี ฟินโนเวต เพื่อจัดตั้งกองทุนสตาร์ทอัพภายใต้ชื่อ Finno Efra Fund โดยคาดว่ากระบวนการการเข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าวของกรุงศรี ฟินโนเวต จะแล้วเสร็จราวต้นเดือนธันวาคมนี้ เบื้องต้นกรุงศรี ฟินโนเวต เข้ามาร่วมลงทุนราว 200 ล้านบาท หลังจากนี้จะมีการระดมทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุนที่สนใจเข้ามาเพิ่มเติม
โดยกองทุน Finno Efra Fund จะมีเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งในไทย และ ภูมิภาคอาเซียน เบื้องต้นราว 1,000 ล้านบาท มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มบิสซิเนส ทรานสฟอร์เมชัน และ กลุ่มนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบสังคม (Social Impact) ซึ่งรวมถึง ESG โดยจะเริ่มต้นลงทุนในสตาร์ทอัพระดับเริ่มต้นธุรกิจ ระดับ Seed Fund ถึง Pre Series A วงเงินลงทุนแต่ละรายอยู่ที่ 5-65 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบได้ราวต้นปีหน้า และคาดว่าจะเข้าไปสนับสนุนสตาร์ทอัพ ได้กว่า 50 ราย ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่สนใจเข้าไปลงทุนไปบ้างแล้ว
นายภาวุธ กล่าวต่อไปว่าจุดเด่นของกองทุนสตาร์ทอัพดังกล่าวนั้นไม่ได้เข้าลงทุนแต่เงินอย่างเดียว แต่จะเปิด Accelerator Program และมีทีมงานเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาธุรกิจ วางโครงสร้างธุรกิจ วางแผนการทำงาน และ การเงิน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งหลังจากนั้นจะส่งต่อให้กรุงศรีฟินโนเวต ที่มีเม็ดเงินสนับสนุนการลงทุนระดับ Series A และ Series B ต่อไป
อนึ่งประสบการณ์การลงทุนในสตาร์ทอัพ 24 ปีที่ผ่านมาของนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ใช้เงินทุนส่วนตัวเข้าไปลงทุนในสตาร์อัพ 45 ราย อาทิ BUILK Creden, Wisesight, Tellscore, Shippop ลงทุนรายละ 1-2 ล้านบาท โดยขณะนี้สตาร์ทอัพที่เข้าไปลงทุนมียอดรายได้รวม 2.17 พันล้านบาท มีพนักงาน 1,414 คน และบางรายเริ่มออกดอกออกผล โดยสร้างผลตอบแทนจากการ Exit ส่วนหนึ่งจากการลงทุน เฉลี่ยประมาณ 100%
ด้านนางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า เทคซอส มีเดีย ได้ร่วมจัดตั้ง กองทุน VentureBridge ” กองทุนเพื่อการสนับสนุนองค์กรชั้นนำของไทย ทั้งในการจัดตั้ง ดำเนินการ และบริหารการลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลก เพื่อสร้างผลตอบแทนด้านการเงินและด้านกลยุทธ์ต่อองค์กรต่างๆ
“VentureBridge นับเป็นโอกาสครั้งใหม่สำหรับองค์กรชั้นนำ และผู้อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย ที่จะได้เปิดประตูสู่เครือข่ายการลงทุนระดับโลก เราเชื่อมั่นว่าหากองค์กรเหล่านี้สามารถเข้าถึงการลงทุนที่เหมาะสม องค์กรต่างๆ เหล่านี้ย่อมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในเชิงบวกได้ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ”
สำหรับภาพรวมการลงทุนสตาร์ทอัพของไทยนั้นมีอัตราการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2555 จนถึง 2566 มีเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ทอัพไทยแล้ว 2,365 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราว 8.5 หมื่นล้านบาท จากจำนวนสตาร์ทอัพทั้งหมด 307 ราย และนักลงทุน 419 ราย