เร่งขับเคลื่อน ‘เฮลท์เทค’ รับตลาดแสนล้าน

27 พ.ค. 2566 | 01:45 น.

สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย เร่งสร้างอีโคซิสเต็ม พร้อมดันเทคโนโลยีชั้นสูง ดึงจุดแข็งคลังข้อมูลการแพทย์เขตร้อน ผนวกรวมความสามารถ AI สร้างผลิตภัณฑ์บริการเจาะตลาดภูมิภาค พร้อมคุยรัฐบาลใหม่ เปิดทางเฮลท์เทค สตาร์ทอัพรับงานภาครัฐ

นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Dietz.asia ในฐานะนายกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทยคนล่าสุด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าอุตสาหกรรมเฮลท์เทค ในไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าแสนล้านบาท เติบโตราว 15% ทั้งนี้สมาคมฯภายใต้การบริหารของคณะกรรมชุดใหม่ต้องการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเฮลท์เทคของไทยใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การสร้างความเข้มแข็งให้กับอีโคซิสเต็มส์ โดยจะช่วยเฮลท์เทค สตาร์ทอัพ ในการหาตลาด ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเฮลท์เทค สตาร์ทอัพได้ง่ายขึ้น และช่วยให้นักวิจัยต่างๆ สามารถที่จะทำผลงานออกสู่ตลาดได้ดีขึ้น

เร่งขับเคลื่อน ‘เฮลท์เทค’ รับตลาดแสนล้าน

 2.การแพทย์ที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Tech) ซึ่งเป็นเทรนด์ของประเทศไทย โดยมองเห็นว่าไทยเมืองร้อน และมีลักษณะข้อมูลสุขภาพเปิดกว้าง ซึ่งสามารถเอาคลังข้อมูลที่มีอยู่ในประเทศ มาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆอย่าง เช่น AI เพื่อดูแลสุขภาพคนในประเทศ และขายออกต่างประเทศ โดยเราสามารถสร้างคลังข้อมูลทางการแพทย์เขตร้อน ทั้งเรื่องไข้มาลาเรีย หรือ โรคเรื้อรังผู้ป่วยชาวเอเชีย ขึ้นมาให้ AI เรียนรู้

 “ไทยถือว่าเหมาะสมสุดในเอเชีย เพราะจีน ปิดกั้นข้อมูล ญี่ปุ่นก็หวงข้อมูล อินเดียยังมีการจัดเก็บข้อมูลไม่เป็นระบบ ขณะที่สิงคโปร์มีความพร้อม แต่ไม่มีคน ซึ่งหากพูดถึงความพร้อม และข้อมูลไทยถือว่าเหมาะสุด เหมือนเรากำลังนั่งทับขุมทรัพย์ข้อมูลอยู่ แต่ขาดการขุดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม”

 และ 3 ด้านการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาล โดยหวังว่ารัฐบาลใหม่ หรือรัฐมนตรีใหม่ จะเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพคนไทยได้มีที่ยืน โดยมีการส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย เข้าไปแก้ปัญหา Pian Point ในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาการเข้าไปรับงานโครงการภาครัฐของสตาร์ทอัพเป็นไปได้ยาก เพราะหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จะใช้บริการของเอสไอ หรือผู้วางระบบเจ้าประจำอยู่

นายพงษ์ชัย กล่าวต่อไปว่าสำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเฮลท์เทคของประเทศนั้นมองว่ายุทธศาสตร์แรกคือควรนำข้อมูลที่ไทยมีอยู่มาสร้างให้เกิดประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยไทยเป็นศูนย์กลางของข้อมูลทางการแพทย์เขตร้อนของประชากรชาวเอเชีย ทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สมาชิกของสมาคมรายหนึ่ง ทำ AI อ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ปอด ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการเทรนด์ AI ให้เรียนรู้ภาพฟิล์มเอ็กซ์ปอดเป็นล้านๆ ภาพ และกำลังขยายไปดูเรื่องมะเร็งเต้านม รวมถึงขยายการทำตลาดไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ วิสเทค ของกลุ่ม ปตท. ที่ทำ AI เรื่องการนอนหลับ เพื่อวิเคราะห์การนอนหลับ

ยุทธ์ศาสตร์ที่ 2 คือการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา โดยอาศัยจุดแข็งที่ไทยมีฐานข้อมูลทางการแพทย์เขตร้อนของคนเอเชียอยู่เป็นจำนวนมากเพราะฉะนั้นควรนำเอาข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งขายไปยังประเทศ อื่นๆ ในภูมิภาค

สำหรับปัญหาและอุปสรรคการพัฒนาเฮลท์เทคของประเทศนั้น เรื่องแรกคือ เรื่องความไม่ชัดเจนของกฎหมาย รัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินการแก้กฎหมายให้โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่างๆ ให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลได้ อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถแก้ พ.ร.บ.ยา ที่เปิดให้ร้านยาสามารถให้คำปรึกษาทางไกลกับผู้ป่วยได้ ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องความล่าช้าในการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนเครื่องมือทางการแพทย์ของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ใช้เวลาพิจารณานาน 3 ปี ซึ่งหากมีขั้นตอนและระยะเวลานานแบบนี้ สตาร์ทอัพ อยู่ไม่ได้ และกว่าจะได้การรับรองเทคโนโลยีล้าสมัยไปแล้ว โดยอยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าวเพราะบางอย่างเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน ไม่มีคู่เทียบ ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมี Fast Track โดยพิจารณาจากผลการทดสอบ สุดท้ายคือเรื่องเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้าไปรับงานโครงการภาครัฐ โดยที่ผ่านมาภาครัฐเปิดโอกาสให้กับรายใหญ่ ซึ่งท้ายสุดรายใหญ่ก็มาจ้างรายย่อย หรือสตาร์ทอัพ เข้าไปรับช่วงอยู่ดี