แพทย์จุฬาฯ ผนึก ทรู ดิจิทัล ผุดนวัตกรรมภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน

02 ก.พ. 2566 | 09:15 น.

แพทย์จุฬาฯ ผนึก ทรู ดิจิทัลดึงเทคโนโลยี AR เสริมประสิทธิภาพด้านการแพทย์ เปิดตัวนวัตกรรมสร้างภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน CPR

จากกรณีที่ ภาวะหัวใจหยุดเต้นยังคงเป็นสาเหตุสําคัญของการเสียชีวิต ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ ในสหรัฐอเมริกามีอัตราอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล 356,000 คน ต่อปี ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว Augmented Reality Hololens for CPR การเปิดตัวนวัตกรรมสร้างภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน

ศ.พญ.บุรณี กาญจนถวัลย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอดีตจนถึงปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์คุณธรรมที่มีการพัฒนาต่อยอดในการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อการบริการ การรักษา จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล ร่วมพัฒนา โซลูชัน Augmented Reality Hololens for CPR ซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญในการช่วยชีวิตของผู้ป่วยโดยเฉพาะในวิกฤตฉุกเฉิน ด้วยการนำองค์ความรู้ทางการแพทย์ระดับโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีเสริมภาพจำลองบนโลกแห่งความเป็นจริง หรือ AR (Augmented Reality) เพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางการแพทย์ให้สมจริงยิ่งขึ้น ซึ่งโซลูชัน Augmented Reality Hololens for CPR สามารถตรวจวัดความแรงและความถี่ของการกู้ชีพพื้นฐาน (CPR) ผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์ ทั้งยังมีการจัดเก็บข้อมูลการฝึก นำไปวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อเพิ่มพูนทักษะของผู้ฝึก พร้อมกันนี้ แว่น AR ยังมีการจำลองสถานการณ์ต่างๆ พร้อมบททดสอบภาคปฏิบัติ ที่ช่วยให้ผู้ฝึกพัฒนาการเรียนรู้และคุ้นเคยกับสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจริง เพื่อช่วยลดความตื่นตระหนกและตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น โดยทรู ดิจิทัล พร้อมเดินหน้าต่อยอดความร่วมมือในการพัฒนาโซลูชันให้มีฟังก์ชันเพิ่มขึ้น และขยายการใช้งานโซลูชันในวงกว้างมากขึ้นต่อไป ซึ่งจะเป็นการยกระดับและมาตรฐานการฝึกกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่มีความสําคัญยิ่งต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นให้มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

ทรู ดิจิทัล

 

 

ผศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ เผยว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นยังคงเป็นสาเหตุสําคัญของการเสียชีวิต ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ ในสหรัฐอเมริกามีอัตราอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล 356,000 คน ต่อปี ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในสถานที่พักของผู้ป่วย มีเพียง 9% ที่สามารถรอดชีวิตและสามารถกลับบ้านได้ และมีแค่ 7% เท่านั้นที่สามารถที่กลับบ้านได้โดยที่มีการใช้ชีวิตได้ตามปกติ (good functional status) เนื่องจากพบว่าผู้ที่เริ่มทําการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยการกดหน้าอกเป็นผู้ที่ยังขาดประสบการณ์ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานถึง 40% และมีผู้ที่ใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติเป็น เพียง 9% เท่านั้น สำหรับประเทศไทยแม้ไม่มี การศึกษาอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจหยุดเต้นแน่ชัด แต่เคยมีการศึกษาในปี 2013 พบว่า 145 คน ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล มีเพียง 7.6% เท่านั้นที่สามารถกลับบ้านได้

ดังนั้น การฝึกให้มีทักษะในการช่วยชีวิตพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงมีความสําคัญยิ่งต่อการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย ปัจจุบันแม้จะมีการฝึกการกู้ชีพพื้นฐานมากขึ้นด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงมีหุ่นจําลองที่เป็นมาตรฐานในการฝึกฝนทักษะการกดหน้าอกแต่ยังขาดความสมจริงหลายประการ ความสามารถในการช่วยชีวิตของผู้ประสบเหตุ และอัตราการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจเองนั้นยังถือว่าน้อยมาก โดยอาจเกิดจากการขาดประสบการณ์ อาจจะเป็นผลมาจากการไม่มีความรู้ที่เพียงพอ ขาดทักษะ ขาดความมั่นใจ หรือกลัวการถูกฟ้องร้อง