"ทีดีอาร์ไอ" ค้านสุดโต่งปมควบรวม "ทรู-ดีแทค" เล่นกลควบรวมดีลธุรกิจ

11 ต.ค. 2565 | 14:40 น.

"ดร.สมเกียรติ" ทีดีอาร์ไอ โพสต์เฟซบุ๊ค เปิด 3 ประเด็นที่ควรจับตาในการพิจารณาควบรวม ทรู-ดีแทค เพราะหากเกิดการควบรวมแล้ว โครงสร้างตลาด โทรศัพท์มือถือและตลาดโทรคมนาคมไทยก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างยากที่จะย้อนกลับคืนมาได้อีก

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์ ตั้งข้อสังเกตดีลการควบรวมทรูดีแทค และผลการพิจารณาของ กสทช. โดยระบุว่า  การวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ชี้ชัดว่าการควบรวมก่อให้เกิดผลเสียการควบรวมครั้งนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลและเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนใหญ่ ผู้สนับสนุนการควบรวมจึงพยายามโฆษณาชวนเชื่อ โดยอาศัย “นักวิชาการ” จำนวนหนึ่งให้พูดสนับสนุนการควบรวม โดยอ้างถึงประโยชน์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดตามข่าวจะพบว่า คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เนื่องจากไม่มีผลการศึกษาวิจัยหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ใดๆ รองรับเลย นอกจากนี้ยังไม่เคยปรากฏว่า นักวิชาการเหล่านี้ได้เคยศึกษาวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ หรือศึกษาการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมมาก่อนเลย

 

"ทีดีอาร์ไอ" ค้านสุดโต่งปมควบรวม "ทรู-ดีแทค" เล่นกลควบรวมดีลธุรกิจ

ในทางตรงกันข้าม ผลการศึกษาวิจัยที่ได้จัดทำอย่างเป็นระบบ โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์หลายชิ้นไม่ว่าจะเป็นผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของ กสทช. เอง ผลการศึกษาของที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ กสทช.ว่าจ้าง และผลการศึกษาของ 101Pub คลังสมองอิสระน้องใหม่ ต่างชี้ชัดว่า การควบรวมนี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค โดยผลการศึกษาในภาพรวมชี้ว่าราคาค่าบริการหลังควบรวมอาจสูงขึ้น 2-23% ในกรณีที่ไม่มีการสมคบราคากัน (ฮั้ว) ระหว่างผู้ประกอบการ 2 รายที่เหลืออยู่ แต่หากมีการฮั้วราคากัน อัตราค่าบริการอาจสูงขึ้นถึง 120-244% และ GDP ของประเทศจะหดตัวลง 0.5-0.6%

ผลการศึกษาที่หนักแน่นและตรงกันในทุกชุดจึงทำให้ความพยายาม “เล่นกลทางเศรษฐศาสตร์” ว่าการควบรวมมีประโยชน์นั้นไม่ได้รับความเชื่อถือเลย ไม่ว่าจะใช้ “นักวิชาการ” กี่คนออกมาให้ความเห็น  กลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนการควบรวมจึงต้องหันไป “เล่นกล” ทางอื่น

สื่อมวลชนและประชาชนจึงควรจับตามองการประชุมของ กสทช. ใน 3 ประเด็นดังต่อไปนี้อย่างใกล้ชิด โดยระวังว่าจะมีการ “เล่นกล” ในด้านต่างๆ หรือไม่

 ประเด็นจับตามอง 1 “การเล่นกลทางกฎหมายว่า กสทช. ไม่มีอำนาจห้ามควบรวม”

ที่ผ่านมา ผู้บริหารสำนักงาน กสทช. และ กสทช. บางคน มีท่าทีที่พยายามชี้นำสังคมให้เกิดความเข้าใจว่า กสทช. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวม ต้องปล่อยให้เกิดการควบรวมอย่างเดียวเท่านั้น โดย กสทช. ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขและมาตรการออกมาเพื่อลดผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นจากการควบรวม

การเล่นกลทางกฎหมายครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากศาลปกครองกลางได้เคยพิจารณาในคดีที่เกี่ยวข้องแล้วว่า กสทช. มีอำนาจที่จะพิจารณาให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวมก็ได้ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของ กสทช. เองก็เคยยืนยันชัดเจนต่ออำนาจของ กสทช. ในเรื่องดังกล่าวด้วย

กระนั้นก็ตาม ยังมีความพยายามในการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า  กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาเพียงใด  ทั้งที่กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการผูกขาดและการควบรวมกิจการโทรคมนาคมล้วนเป็นกฎระเบียบที่ กสทช. ประกาศออกมาเอง  ผลปรากฏว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า กสทช. มีอำนาจพิจารณาตามกฎหมายของตน

ประชาชนจึงควรจับตามองดูว่า ในการประชุมของ กสทช. จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมา “เล่นกล” โดยอ้างว่าตนไม่มีอำนาจพิจารณา เพื่อให้การควบรวมเกิดขึ้นได้อย่างสะดวกอีกหรือไม่

ทั้งนี้ นักเล่นกลทางกฎหมายน่าจะอ้างว่า การควบรวมแบบการรวมธุรกิจ (merger) จนรวมเป็นบริษัทเดียว (amalgamation) แบบที่ทรูและดีแทคดำเนินการ ต้องใช้ประกาศ กสทช. ปี 2561 ซึ่งมีบทบัญญัติที่เข้มงวดน้อยกว่าประกาศ กสทช. ปี 2549 ซึ่งจะถูกอ้างว่าใช้ได้เฉพาะการซื้อกิจการ (acquisition) เท่านั้น ทั้งที่ประกาศ กสทช. ปี 2549 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รวมถึงการถือครองธุรกิจในบริการเดียวกัน เพื่อควบคุมการบริหาร (control) ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งครอบคลุมการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคอย่างแน่นอน เพราะบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นย่อมต้องสามารถควบคุมผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมทั้งสองราย ไม่โดย “ทางตรง” ก็โดย “ทางอ้อม” มิฉะนั้นก็คงจะไม่มีประโยชน์ที่จะควบรวมกัน      

 ประเด็นจับตามอง 2 “การเล่นกลกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้ควบรวมได้”

ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า การควบรวมครั้งนี้จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยมีโครงสร้างผูกขาดมากขึ้น จากการที่จำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ลดลงจาก 3 รายเหลือเพียง 2 ราย และยากที่จะแก้ไขให้ตลาดกลับมามีผู้ประกอบการ 3 ราย และมีระดับการแข่งขันเช่นเดิมได้อีกในอนาคต เพราะตลาดดังกล่าวเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวแล้ว ไม่น่าจะมีรายใหม่สนใจเข้ามาให้บริการได้อีก และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ในอนาคต กสทช. จะสั่งให้มีการแยกกิจการที่ควบรวมไปแล้ว แม้จะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผูกขาด เพราะตนได้ให้อนุญาตควบรวมไปเอง    

แม้การควบรวมนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขกลับมาได้ก็ตาม ก็ปรากฏว่ามีความพยายามที่จะสร้าง “ทางสายกลาง” ซึ่งหมายถึงการอนุญาตให้ควบรวมได้ แต่กำหนดเงื่อนไขควบคุมไว้ ดังปรากฏตามข่าวว่าสำนักงาน กสทช. ได้เตรียมเสนอเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะไว้ 14 มาตรการ เพื่อป้องกันผลกระทบในด้านลบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวม

เมื่อวิเคราะห์มาตรการต่างๆ ดังกล่าวดูแล้วจะพบว่า มาตรการส่วนหนึ่งมุ่งหวังให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองหรือไม่ แต่เมื่อตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอิ่มตัวแล้ว มาตรการนี้จึงไม่สามารถทำให้ตลาดกลับไปมีผู้ประกอบการ 3 รายได้อีก หากปล่อยให้มีการควบรวมครั้งนี้

มาตรการอีกส่วนหนึ่งมุ่งควบคุมราคาค่าบริการไม่ให้สูงขึ้น คุณภาพบริการไม่ให้แย่ลง และสัญญาให้บริการที่ไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบมากขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการที่ กสทช. ก็ประกาศใช้อยู่แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าสามารถกำกับดูแลได้จริง เราจึงไม่สามารถคาดหวังได้ว่า เมื่อตลาดผูกขาดมากขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้การกำกับดูแลยากขึ้นไปด้วย จู่ๆ กสทช. จะเก่งขึ้นทันที จนสามารถกำกับดูแลตลาดผูกขาดนี้สำเร็จได้อย่างไร

มาตรการอีกกลุ่มหนึ่งเช่น การห้ามผู้ประกอบการที่ควบรวมกันใช้คลื่นร่วมกันในการให้บริการ หรือห้ามใช้แบรนด์เดียวกันในการทำตลาด ยิ่งสร้างผลเสียจากการควบรวม เพราะทำให้ประโยชน์อันน้อยนิดต่อผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมไม่เกิดขึ้นเลย เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถลดต้นทุนได้    

ดังนั้น การกำหนดมาตรการ 14 ข้อออกมาจึงไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างจับต้องได้ และน่าจะกลายเป็นเพียง “การเล่นกล” เพื่อแสดงให้เห็นให้ว่า การควบรวมจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค เพื่อปล่อยให้ผู้ประกอบการสามารถควบรวมได้ตามที่ต้องการเท่านั้น

ประเด็นจับตามอง 3 “การเล่นกลในการลงมติในประเด็นต่างๆ ของกสทช.”

ที่สำคัญที่สุด ประชาชนควรจับตาดูการลงมติในประเด็นต่างๆ ของกสทช. ทั้งการลงมติของทั้งองค์คณะและการลงมติรายบุคคล คนแรกที่ประชาชนควรจับตามองเป็นพิเศษคือ ประธาน กสทช. เนื่องจากการลงมติของประธานจะบอกทิศทางว่า กสทช. จะถูกนำโดยผู้ที่ยืนอยู่เคียงข้างผู้บริโภคหรืออยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน เนื่องจากประธานจะมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดวาระ (agenda) ในการประชุม ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กร  ที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่าประธาน กสทช. มีประวัติในการทำงานที่มีเรื่องมัวหมองใดๆ จึงต้องจับตาดูว่า ท่านจะสามารถรักษาเกียรติประวัติไว้ได้ต่อไปหรือไม่ และจะสามารถนำพาให้ กสทช. เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนได้หรือไม่

อีกคนหนึ่งที่ประชาชนควรจับตามองดูเป็นพิเศษคือ กสทช. ที่มาจากตัวแทนของผู้บริโภคว่าได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคสมกับที่ได้รับคัดเลือกมาหรือไม่ หรือเข้ามาในนามผู้บริโภค แต่มีพฤติกรรมที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ

นอกจากนี้ ควรจับตาดูด้วยว่า กสทช. ทั้งองค์คณะซึ่งเคยมีมติ 3-2 ว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ก็ได้ เมื่อครั้งไปชี้แจงต่อศาลปกครองกลางในคดีที่เกี่ยวข้อง จะมีการ “เล่นกล” กลับมติของตนที่เคยมีก่อนหน้าหรือไม่ และใครเป็นผู้ที่กลับมติ

คงมีแต่สำนึกของ กสทช. และพลังการตรวจสอบของประชาชนและสื่อมวลชนเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมในครั้งนี้ไปได้

ที่มา:เฟซบุ๊คดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์