หัวเว่ย ร่วมเซ็น MoU การท่าเรือ พัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ

02 พ.ย. 2565 | 12:22 น.

หัวเว่ย ร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) โครงการความร่วมมือวิจัยและก่อสร้างท่าเรืออัจฉริยะ ท่าเรือ 5G และท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในไทย รวมทั้งการมุ่งฝึกทักษะบุคลากรในประเทศ รองรับเทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

นายเควิน เฉิง ประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว“ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นผู้นำเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีและอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์เป็นผู้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่ทุกผู้คน ทุกบ้าน และทุกองค์กร เพื่อการสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เราจำเป็นต้องทำผ่านความร่วมมือที่เปิดกว้างกับพาร์ทเนอร์ในอีโคซิสเต็ม

หัวเว่ย ร่วมเซ็น MoU การท่าเรือ พัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่หัวเว่ยลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยหัวเว่ยจะช่วยสนับสนุนด้านแนวทางการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมท่าเรือของประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลในระยะเวลา 3 ปีตามที่ระบุในรายละเอียดบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือในด้านการทำวิจัยและการก่อสร้างท่าเรืออัจฉริยะ (Port Digitalization) ท่าเรือ 5G และท่าเรือสีเขียว พร้อมทั้งยกระดับความรู้และทักษะของบุคลากรผ่านการเรียนรู้และกิจกรรมการฝึกอบรมอีกด้วย” 

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า “การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถทำงานร่วมกันและส่งเสริมจุดแข็งของกันและกัน โดยเราตั้งเป้าว่าจะขยายความร่วมมือทั้งในด้านธุรกิจ ร่วมพัฒนาโซลูชัน และสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมระดับแนวหน้าให้แก่อุตสาหกรรมท่าเรือและการขนส่งในภาพรวมของประเทศไทย

 

หัวข้อหลักในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะประกอบไปด้วยการร่วมกันแสวงหาบริการดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ “ระดับโลก” ในประเทศไทย รวมถึงการร่วมมือกันระหว่าง กทท. และพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อถ่ายทอดความรู้และถ่ายโอนทักษะและบริการระหว่างกัน”

เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย และหัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) มีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันในเชิงกลยุทธ์ เพื่อการวิจัยและร่วมกันหาทางสร้างท่าเรืออัจฉริยะ ซึ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงมองหาแนวทางการสานต่อความร่วมมือทางธุรกิจด้านอื่น ๆ พัฒนาบริการโซลูชั่นที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันคิดค้นเทคโนโลยีอันทันสมัยที่จะสามารถนำมาใช้กับท่าเรือและธุรกิจด้านโลจิสติกส์ทั่วไปได้