‘ลาซาด้า-ช้อปปี้’หยุดสงครามเผาเงินเดินหน้าสู่ยุคทำกำไร

01 ต.ค. 2565 | 07:15 น.

สงครามเผาเงิน Marketplace จบแล้ว “ลาซาด้า-ช้อปปี้” เดินหน้าธุรกิจสู่โหมดกำไร ลดงบโฆษณา-การตลาด กูรูอีคอมเมิร์ซ ชี้ร้านค้า-แบรนด์ เตรียมรับชะตากรรม แบกค่าฟี-ค่าการตลาดเพิ่ม ล่าสุดลาซาด้า ค่าธรรมเนียมบริการขึ้น 1% เริ่ม 1 ตุลาคมนี้

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่ผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลส 2 รายใหญ่ ลาซาด้า และช้อปปี้ หยุดสงครามเผาเงินค่าการตลาด แคมเปญ โปรโมชั่น เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาในแพลตฟอร์ม และเข้าสู่การทำกำไรจากธุรกิจมากขึ้น

‘ลาซาด้า-ช้อปปี้’หยุดสงครามเผาเงินเดินหน้าสู่ยุคทำกำไร

โดยก่อนหน้านี้ลาซาด้า มีการลดคน จ้างเอาท์ซอร์ซ เพื่อลดต้นทุน ลดงบการตลาดที่ใช้จัดแคมเปญลงมา ทำให้มีกำไร 2 ปีติดต่อกัน โดยมีรายได้ 20,675 ล้านบาท และกำไร 413 ล้านบาท ขณะที่บริษัทลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด ที่ใช้บริการโลจิสติกส์ ทำรายได้ 16,060 ล้านบาท และกำไรสูงถึง 2,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ ลาซาด้า ได้เตรียมเก็บค่าธรรมเนียมบริการมาร์เก็ตเพลส เพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 2% โดยเริ่ม 1 ตุลาคมเป็นต้นไป และ มีแนวโน้มจะเก็บค่าการตลาด ค่าโฆษณาจากร้านค้าเพิ่ม ค่าฟรีบริการวอลเล็ค ล่าสุด ลาซาด้า ได้แต่งตั้งซีอีโอคนไทยคนแรก คือ นายวีระพงศ์ โก ขึ้นมาขับเคลื่อนทิศทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นลาซาด้า ทำกำไรจากธุรกิจจากบริการเดิม และบริการใหม่ๆอย่างเต็มที่

‘ลาซาด้า-ช้อปปี้’หยุดสงครามเผาเงินเดินหน้าสู่ยุคทำกำไร

ส่วนช้อปปี้นั้นการดำเนินธุรกิจภายใต้กลุ่ม ประกอบด้วย บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ช้อปปี้ฟู้ด จำกัด และ บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีผลขาดทุนสะสมรวมกันถึง 16,388 ล้านบาท นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจของช้อปปี้ในหลาย ๆ ประเทศก็ไม่ได้เป็นไปตามคาด จึงมีการประกาศถอยทัพออกจากหลายประเทศ ได้แก่ ต้นเดือนมีนาคม ได้ประกาศเลิกกิจการในประเทศฝรั่งเศส หลังดำเนินธุรกิจได้เพียง 5 เดือน , ปลายเดือนมีนาคม ประกาศเลิกกิจการในประเทศอินเดีย หลังดำเนินธุรกิจได้เพียง 6 เดือน, ถอยทัพออกจากประเทศสเปน โดยหยุดการดำเนินกิจการทั้งหมดในวันที่ 17 มิถุนายน 2562

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท Sea Group บริษัทแม่ของ Shopee ได้ประกาศการปรับโครงสร้างองค์กร โดยเลิกจ้างพนักงานในเครือช้อปปี้ ประเทศไทย ทั้งหมด 300 คน ใน 3 สังกัดบริษัท ได้แก่ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ช้อปปี้ ฟู้ด โดยการปรับลดโครงสร้างครั้งนี้ เป็นผลมาจากธุรกิจต้องการมุ่งเน้นการทำกำไรระยะยาว โดยการปรับลดพนักงานในครั้งนี้จะไม่กระทบกับการดำเนินงานหลักและไม่มีการยุบหน่วยบริการใด ๆ ของบริษัท

 

“สัญญาณนี้ เป็นการบ่งบอกว่าอีคอมเมิร์ซ ในกลุ่มอีมาร์เก็ตเพลสของไทย กำลังเปลี่ยนผ่านจาก ช่วงการใช้เงินลงทุนมหาศาลในการ “สร้างตลาด” ผ่านการทำโฆษณา โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ส่งฟรี. เข้าสู่ ช่วง “การทำกำไร” แล้ว เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ทั้งฝั่ง “ผู้ค้า (Seller)” และ “ผู้ซื้อ (Buyer)” เริ่มเข้าใจการซื้อ-ขายผ่าน อีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบแล้ว ทำให้ อีมาร์เก็ตเพลส ไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงไปอัดกระตุ้นตลาดจำนวนมากอีกต่อไป รวมเวลาประมาณ 10 ปีของการเข้ามาของลาซาด้า ขาดทุนสูงถึง 15,000 ล้านบาท

 

นายภาวุธ กล่าวต่อไปอีกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดเกมเผาเงินของผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสมากสุด คือพ่อค้า แม่ค้า ร้านค้า หรือ แบรนด์ต่างๆ เพราะนอกจากมีการเรียกเก็บค่าธรรมบริการมาเก็ตเพลส เพิ่มแล้ว ต่อไปจะถูกเรียกเก็บค่าโปรโมตร้านค้า บริการระบบชำระเงินเพิ่ม รวมถึงต้องเป็นผู้ลงทุนจัดแคมเปญส่งเสริมการขายเอง ขณะที่ฝั่งผู้บริโภค จะไม่ได้ประโยชน์จากแคมเปญ หรือโปรโมชัน มากเหมือนกับช่วงที่ผ่านมาบางหมวดราคาสินค้าอาจสูงขึ้น เพราะร้านค้าต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้ค้าที่ต้องการจัดโปรโมชันส่งเสริมการขายอาจต้องยอมลดกำไร เพื่อนำมาเป็นส่วนลดโปรโมชันให้กับลูกค้า