คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ... ครองโลก (4) 

07 ก.ย. 2565 | 08:56 น.

คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ... ครองโลก (4) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เราคุยกันต่อว่าจีนมีปฏิกิริยาอย่างไร โครงสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกจะเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างไร และชำแหละการเล่นบท “สองหน้า” ของสหรัฐฯ เพื่อหวัง “โต้กลับ” สถานะของตนเองในเวทีโลกกันครับ ...  

 

จีนตระหนักดีถึง “ความสำคัญ” ในเชิงธุรกิจ และ “ความเป็นความตาย” ในเชิงเศรษฐกิจ และความมั่นคงระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยได้พยายามสานต่อสูตรสำเร็จจากอุตสาหกรรมอื่นด้วยการพัฒนาทั้ง “ระบบนิเวศ” อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน จีนก็มีจุดเด่นในเรื่องความได้เปรียบด้านตลาดที่ซ่อนอยู่ โดยที่เซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้การวิจัยและพัฒนา และเงินทุนเข้มข้น ซึ่งต้องการ “ขนาดของตลาด” เป็นปัจจัยพื้นฐานแห่งความสำเร็จ จีนมีอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่ตอบโจทย์ดังกล่าว 

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนใส่ใจกับการเร่งพัฒนาด้านอุปทานเป็นอย่างมาก ในปี 2014 รัฐบาลจีนได้ประกาศแนวปฏิบัติในการส่งเสริมวงจรรวมแห่งชาติ (National IC Promotion Guidelines) เป็นครั้งแรก 

ต่อมาในปี 2015 รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบาย Made in China 2025 โดยบรรจุให้เซมิคอน ดักเตอร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนา และมุ่งเป้าที่จะพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ที่ตนเองผลิตขึ้นเองในสัดส่วนถึง 70% ของความต้องการโดยรวมของจีนภายในปี 2025 


เมื่อนโยบายและเป้าหมายชัดเจน รัฐบาลจีนก็เดินหน้าให้การพัฒนาเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม อาทิ การกำหนดวงเงินวิจัยในระหว่างปี 2014-2030 รวมกว่า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมวงจรรวมแห่งชาติ (National Integrated Circuits Industry Development Investment Fund) ที่รู้จักกันในนามของ “Big Fund” มูลค่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  

 

กองทุนฯ ดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มวงเงินเป็นระยะ ผู้เชี่ยวชาญในวงการประเมินว่า จนถึงปัจจุบัน กองทุนฯ ดังกล่าวน่าจะทะลุ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการส่วนหน้าเพื่อมุ่งเป้าในการเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดของชิปจีนในเวทีโลก  
 

นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นของจีนยังจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวอีก 15 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวมอีกกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงเงินอุดหนุน การร่วมลงทุน และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวรวมอีกกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดเงินนับว่ามากอย่างที่ไม่มีประเทศใดทุ่มทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มาก่อน!  

 

แต่สถานการณ์ที่บีบรัดเพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ นับแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ทำให้จีนไม่อาจผ่อนแรง โดยพยายามใช้ประโยชน์จากการเปิดสายการผลิตใหม่ที่รวดเร็ว ควบคู่ไปกับการ “เพิ่มกำลัง” เพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง 
 

ในเดือนสิงหาคม 2020 จีนประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่อุตสาหกรรมนี้ ซึ่งครอบคลุมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 10 ปี เฉพาะส่วนนี้ก็อาจมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว ส่งผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว เฉพาะในปี 2020 มีกิจการใหม่มากกว่า 22,800 รายจัดตั้งขึ้นในจีน เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 200% เมื่อเทียบกับของปีก่อน 

 

ในจำนวนนี้ ราว 40 บริษัทลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์สตาร์ (STAR Board) ตลาดทุนแห่งใหม่ในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งระดมทุนจากการทำไอพีโอคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 25,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) รัฐบาลจีนยังกำหนดให้เซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์อันดับต้นๆ โดยต้องการให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนเพื่อบรรลุระดับการพึ่งพาด้านเทคโนโลยีของตนเองตามที่ตั้งเป้าไว้ 

 

เมื่อแรงกดดันจากภายนอกมาพร้อมกับการสนับสนุนส่งเสริมจากภายใน กิจการของจีนก็มักเก่งในการ “แปลงวิกฤติให้เป็นโอกาส” เสมอ บิ๊กเทคของจีนต่างลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาชิปของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ไป่ตู้ (Baidu) เปิดตัว “Kunlun 2” ชิปเอไอรุ่นที่ 2 ขณะที่ อาลีบาบา (Alibaba) ก็ออกแบบชิปสำหรับเซิร์ฟเวอร์และคลาวด์คอมพิวติ้ง รวมทั้งหัวเหว่ย (Huawei) และ ออปโป (Oppo) ก็พัฒนาโปรเซสเซอร์คุณภาพสูงสำหรับสมาร์ตโฟน และอื่นๆ   

 

แม้กระทั่งวิกฤติไต้หวันในครั้งหลังนี้ ยังทำให้กิจการดิจิตัลในจีนขยายการลงทุนต่อเนื่อง ตลาดหุ้นสตาร์ตอบรับเชิงบวกต่อสถานการณ์ ราคาหุ้นของหลายบริษัทจีนดีดตัวเพิ่มขึ้นทันที 

 

นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากการขยายกำลังการผลิตชิปในเวทีโลกดำเนินไปเช่นนี้ โครงสร้างการผลิตชิปโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอันใกล้ โดยจะทำให้จีนพุ่งทะยานขึ้นเป็นผู้เล่นเบอร์ 1 ของตลาดระดับกลางได้ในอนาคตอันใกล้ แซงหน้าไต้หวัน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น 

 

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2024 จีนจะมีโรงงานผลิตชิปคุณภาพระดับกลางถึง 31 แห่ง ตามมาด้วยไต้หวัน 19 แห่ง และสหรัฐฯ อีกราว 12 แห่ง  

 

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังประเมินว่า ชิปจีนจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาเหนือกว่าชิปที่ผลิตในสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ลำพังเงินอุดหนุนของรัฐบาลก็อาจไม่เพียงพอ ที่จะรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเอาไว้ได้ การตั้งโรงงานผลิตชิปในสหรัฐฯ และชาติตะวันตกใช้เวลายาวกว่าในจีนค่อนข้างมาก และมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าของจีน 

 

ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ ต้องโต้กลับเฉกเช่นเดียวกับ “Empire Strikes Back” บ้าง ดังจะเห็นได้ว่า ความเคลื่อนไหวในช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ยังทำให้มั่นใจได้ว่า สหรัฐฯ กำลัง “ชวนพวก” มาล้อมวงเล่นเกมส์เทควอร์กับจีน โดยวางแผนใช้วิธีการตีบท “สองหน้า” เสียด้วย 


ในด้านหนึ่ง ผู้บริหารระดับสูงและนักการเมืองสหรัฐฯ ต่างแบ่งบทกันเล่นอย่างลงตัว แถมยังทำได้อย่างไหลลื่นและสอดคล้องกันราวคู่เต้นรำมืออาชีพก็ไม่ปาน  


โดยในฉากหน้า โจ ไบเดน แสดงจุดยืนในระหว่างการประชุมออนไลน์กับ สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน แต่ขณะเดียวกัน ก็ใช้จังหวะโอกาสนี้กลบข่าวการยกมือผ่านร่าง “ชิปบิลล์” ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันเดียวกันจนเกือบหมดสิ้น 


หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน แนนซี เปโลซี ก็ “สับขาหลอก” เดินทางเข้าไต้หวันในช่วงกลางดึก โดยไม่เพียงหวังผลทางการเมือง แต่ยังใช้โอกาสนี้สื่อสารโดยตรงกับมาร์ก หลิว ประธานกรรมการ TSMC ในอีกทางหนึ่ง


เท่านั้นไม่พอ วันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ (U.S. Chips and  Science Acts) ซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าววงในที่ว่า แนนซี เปโลซี นำข้อมูลความคืบหน้าของร่างกฎหมายดังกล่าว ไปแจ้งต่อประธานกรรมการของ TSMC ในโอกาสพบกันที่ไต้หวันไปก่อนหน้านี้แล้ว 
 

กระแสข่าวบางส่วนยังเกิดควันหลงตามมา เมื่อนักวิเคราะห์เปิดเผยถึงการทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นกิจการด้านไฮเทค ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ของบรรดาสามี และเครือญาติของเปโลซี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวอเมริกันบางส่วน ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ตั้งวงเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนา และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ จำนวน 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เรากำลังพูดถึงวงเงินอุดหนุนถึง 100 เท่าตัวของเมื่อหลายปีก่อน แถมยังอาจเพิ่มวงเงินอุดหนุนอีกกว่า 5 เท่าตัวในอนาคต 

 

กฎหมายดังกล่าวจึงกลายเป็นเสมือน “แม่เหล็กตัวใหญ่” ที่ดึงดูดฐานการผลิตชิปคุณภาพสูงเข้าสู่สหรัฐฯ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นผู้เล่นรายใหญ่ของโลกต่างขยายการลงทุนจำนวนมหาศาลในสหรัฐฯ  ยกตัวอย่างเช่น อินเทลลงทุนก่อสร้างโรงงานในมูลค่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในมลรัฐโอไฮโอ ขณะที่ TSMC ก็ประกาศตั้งโรงงานผลิตชิปที่คาดว่าจะมีขนาดใหญ่ในโลกที่มลรัฐอริโซนาเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวยังมีลักษณะพิเศษที่ห้ามใช้เงินกองทุนดังกล่าวเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ในจีน และยังห้ามมิให้กิจการของจีนเข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายการผลิตของสหรัฐฯ (Manufacturing USA Network) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จตุรเทพแห่งวงการ”  
     นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังรวมไปถึงการเสริมสร้างการป้องกันล่วงหน้า เกี่ยวกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ และการประเมินภัยคุกคามด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากจีน 

 

ประการสำคัญ สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ออกกฎหมายและมาตรการที่คล้ายคลึง นับแต่ต้นปี 2022 เราเห็นสหภาพยุโรป ออกกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมชิปในพื้นที่ โดยตั้งวงเงินอุดหนุนถึง 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามด้วยญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และมีกระแสข่าวว่าแม้กระทั่งอินเดีย ก็เตรียมออกกฎหมายคล้ายคลึงกันในวงเงิน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้เช่นกัน 

 

มาถึงวันนี้ การดำเนินการของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในช่วงหลายปีหลัง ได้บั่นทอนความสัมพันธ์อันดีกับจีน และขยายวงการแยกขั้วด้านเทคโนโลยีให้ถ่างกว้างยิ่งขึ้นไปอีกแล้ว ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,816 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2565