วิจัยสร้างชาติ พลิกโฉมประเทศด้วย"ซูเปอร์"แมนเพาเวอร์     

09 ส.ค. 2565 | 10:10 น.

ปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ ชูสร้างฉากทัศน์ใหม่ พลิกโฉมประเทศไทยด้วยการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง สร้างระบบนิเวศนวัตกรรม  ใช้อินโนเวชัน แซนด์บอกซ์ ผลิตนักวิจัยอย่างก้าวกระโดด  ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 ส.ค. 2565 ที่ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์   เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ  ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานเปิดเวทีเสวนา “พลิกโฉมประเทศไทยด้วยกำลังคนสมรรถนะสูงและเส้นทางอาชีพนักวิจัย ”  ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ความท้าทายใหม่ของ อววน. เพื่อการพัฒนานักวิจัยของประเทศ

 

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนด้านการวิจัยประเทศ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และการลงทุนในเรื่องนี้จะเป็นสิ่งบ่งชี้ ว่าประเทศใดจะพัฒนามากน้อยเพียงใด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ไทยลงทุนด้านวิจัยเพียง 0.25% ต่อจีดีพี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วลงทุนถึง 4 % และบางประเทศอาจสูงถึง 12 %  แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยลงทุนงบวิจัยเพิ่มเป็น 1-1.1% และ ล่าสุดเพิ่มเป็น 1.3% ซึ่งถือว่ามาไกลมาก แต่ต้องทำให้ถึงเป้าหมาย 2% และถ้าได้ถึง 4%ก็ยิ่งดี 

วิจัยสร้างชาติ พลิกโฉมประเทศด้วย"ซูเปอร์"แมนเพาเวอร์     

วิจัยสร้างชาติ พลิกโฉมประเทศด้วย"ซูเปอร์"แมนเพาเวอร์     

ปลัดกระทรวง อว.กล่าวต่อว่า  การสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งเป็นคำที่ใช้กับนักวิจัย และนักวิชาการของประเทศ  ถือว่ามีความสำคัญมาก ขณะนี้ประเทศไทยมีนักวิจัยทั้งสิ้น 169,000 คน คิดเป็น 17 คน ต่อประชากร 10,000 คน มากกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่มีเพียง 12-15 คน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ที่ 60-100 คน 

 

หน้าที่ของพวกเราในเวทีนี้จึงอยากให้โจทย์ได้ช่วยกันคิดว่า  เราควรทำอะไร อย่างไรและมีทิศทางการพัฒนาคนสมรรถนะสูงอย่างไร ที่จะพลิกโฉมประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง สู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ทั้งนี้กระทรวง อว.ซึ่งตั้งมาเพียง 3 ปี ได้พยายามทำทุกวิถีทางในการสร้างอีโค่ซิสเต็มให้เกิดแรงจูงใจแก่เส้นทางวิชาชีพนักวิจัยให้ดีที่สุด โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ขับเคลื่อนและหนุนเสริมกำลังคนวิชาการ กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม  ให้ภาคการผลิตและภาคความต้องการใช้ประโยชน์จากกำลังคนสมรรถนะสูง สอดล้อง และสมดุลกัน โดยมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

 

1. การผลิตกำลังคนคุณภาพสูงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ โครงการ EEC, Work-integrated Learning และการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ได้ดำเนินการปฏิรูปการอุดมศึกษาควบคู่ ผ่านการใช้กระบวนการ Higher Education Sandbox  กลไกนวัตกรรมการอุดมศึกษา ในการพัฒนาหลักสูตรทดลอง เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม  รวมทั้งกลไกอื่น ๆ อาทิ  การส่งเสริมการเรียนข้ามสถาบัน การจัดตั้งธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) 

 

2.การเคลื่อนย้าย แลกเปลี่ยน เพื่อป้อนกำลังคนคุณภาพสูง เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการลงทุนด้านการวิจัยของประเทศ  ซึ่งปัจจุบันได้มุ่งเน้น BCG และการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ  การพัฒนาเครื่องโทคาแมค ผลิตนิวเคลียร์ฟิวชัน การสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เป็นต้น และ

 

 3. การเติบโตในเส้นทางอาชีพนักวิจัย โดยปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม  พ.ศ. 2564  เพื่อให้นักวิจัยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา  ซึ่งนับเป็นแรงจูงใจ (Intensive) ที่สำคัญ ที่จะทำให้การวิจัยเติบโต และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้  รวมทั้งการส่งเสริมให้นักวิจัยได้เติบโตในเส้นทางอาชีพ ได้ดำเนินการเพิ่มช่องทางการขอตำแหน่งทางวิชาการอีก 5 ช่องทาง 

 

อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์ของ สอวช. คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2570  จีดีพีของ ประเทศไทยจะต้องเพิ่มอัตราส่วนการลงทุน ภาครัฐ : เอกชน  เป็น 30:70 และเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเป็น 30 คนต่อประชากร 10,000 คน  เพื่อให้ระบบวิจัยก้าวหน้า สามารถดำเนินการโดยการส่งเสริม Innovation  Ecosystem และการขับเคลื่อน New growth engine ด้วยนวัตกรรม 

 

โดยประเทศไทยได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี  และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่  13  หมุดหมายแผนการพัฒนาบุคลากรวิจัย และนวัตกรรม  พ.ศ.  2565-2570  สำหรับกระทรวง อว. มีกลไกที่ช่วยสนับสนุนนักวิจัยมืออาชีพ เข้าสู่การเชื่อมโยงองค์ความรู้ในหลายส่วน ผ่านกลไกการดำเนินโครงการ Hi -FI Consortium, Total Innovation Management Enterprise; TIME, Talent Mobility เป็นต้น โดยกระบวนการการพัฒนาดังกล่าว จะสามารถทำให้งานวิจัยของประเทศไทยมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเข้าสู่เป้าหมายที่สำคัญ คือ อันดับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific infrastructure) ของประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1ใน 30

 

ปลัด อว.กล่าวว่า การพลิกโฉมประเทศไทยด้วยกำลังคนสมรรถนะสูง และเส้นทางอาชีพนักวิจัย มีการกำหนดยุทธศาสตร์โดยแบ่งออกเป็น  ด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การบริการ การเกษตร และอาหาร โดยตั้งเป้าหมายสร้างนักเรียนมัธยมและอาชีวะ 1.9 ล้านคน เพิ่มเป็นนิสิต นักศึกษา และพัฒนาเป็นกำลังแรงงานในสถานประกอบการ 40 ล้านคน จึงมีการสร้างระบบนิเวศทางวิชาการ  ที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย  สถานประกอบการ และชุมชน เริ่มจากการคัดเลือกนักศึกษา การบ่มเพาะอาจารย์นักวิจัย  และสนับสนุนบุคลากรจนได้ประสิทธิภาพสูงสุด  ในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาการทำงานร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรม ที่เน้นในเรื่องของทักษะ และพัฒนากำลังคนเฉพาะด้านให้ตอบสนองกับนโยบายของภาครัฐ 

วิจัยสร้างชาติ พลิกโฉมประเทศด้วย"ซูเปอร์"แมนเพาเวอร์     

จากนั้นเป็นการเสวนา เรื่อง พลิกโฉมประเทศไทยด้วยกำลังคนสมรรถนะสูง และเส้นทางอาชีพนักวิจัย โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ

 

ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง มีความสำคัญต่อการพลิกโฉมประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กระทรวง อว.มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจ ตลอดจนปรับแนวทาง ทำให้เกิดผลดีต่อการวิจัยของประเทศ แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องทำเพิ่มขึ้นคือ การสร้างระบบ Innovation Ecosystem การก้าวกระโดดโดยมี Innovation Sandbox การส่งเสริมให้นักวิจัยสามารถนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่า  การสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงไม่ควรมองแค่จำนวน แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ จะต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์วิจัยตามความต้องการของตลาด  ส่วนในภาคการศึกษา จะต้องมีการปรับตัว เพื่อให้ได้บัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มีมายด์เซ็ทเหมาะกับการเป็นผู้มีทักษะในการเข้าสู่โลกในศตวรรษที่ 21