‘หัวเว่ย’เปิดเทรนด์ดิจิทัลขับเคลื่อนชีวิต-โลกธุรกิจ

18 พ.ค. 2565 | 09:02 น.

"หัวเว่ย” เปิดเทรนด์โลก ดิจิทัลอีโคโนมี เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มความยืดหยุ่น และผลักดันให้การฟื้นตัวทำได้รวดเร็วมากขึ้น

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) เปิดมุมมองใน Special Talk : Digital Global Trend ว่า วันนี้ดิจิทัลอีโคโนมีมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในหลากหลายมิติ และจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มความยืดหยุ่น และผลักดันให้การฟื้นตัวทำได้รวดเร็วมากขึ้น

‘หัวเว่ย’เปิดเทรนด์ดิจิทัลขับเคลื่อนชีวิต-โลกธุรกิจ

ข้อมูลโดยไอดีซีระบุว่า ปี 2563 ท่ามกลางสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและตัวเลขจีดีพีที่ตกลงราว 2.8% ทว่าการใช้จ่ายด้านไอทีกลับเติบโตเพิ่มขึ้น 5% เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

 

สำหรับปีนี้ไอดีซีคาดการณ์ไว้ว่ากว่า 50% ของเศรษฐกิจทั่วโลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล เมื่อถึงปี 2566 คลาวด์คอมพิวติ้งเวิร์คโหลดจะเติบโต 72% ขณะที่ 5จี แอปพลิเคชั่นจะเป็นตัวปลดล็อกและมูลค่ากว่า 13.2 ล้านล้านดอลลาร์ และภายในปี 2568 ดิจิทัลอีโคโนมีจะมีส่วนในการจ้างงานกว่า 60-65 ล้านตำแหน่ง

 

อย่างไรก็ดี อีกเทรนด์ที่น่าสนใจพบด้วยว่า การเชื่อมต่อ (Connectivity) และคอมพิวติ้งจะเป็นรากฐานของดิจิทัลอีโคโนมี ด้วยพลังของเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น 5จี ไอโอที ไอพีวี6 เอไอ คลาวด์ ฯลฯ จะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับการบริหารจัดการรวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวม

 

เขากล่าวว่า เทรนด์ที่ไม่อาจมองข้ามคือ การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเห็นว่ามีการนำไปใช้งานแบบครบวงจร มีการเชื่อมโยงในหลายภาคส่วน ซึ่งจากนี้การแข่งขันทางดิจิทัลจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

สำหรับไทย นับเป็นผู้นำด้าน 5จี ในระดับภูมิภาคและระดับท็อปของโลก ที่ผ่านมาได้เห็นทั้งการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม มีจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 5 ล้านคน มากที่สุดในระดับภูมิภาค

 

มากกว่านั้นเป็นผู้นำด้านฟิกซ์บรอดแบนด์ที่มีสัดส่วนการเข้าถึงกว่า 58.96% ขณะที่ระดับโลก 56% ไม่เพียงเท่านั้นมีการปรับใช้คลาวด์อย่างเป็นรูปธรรมจากเดิม 59% เพิ่มขึ้นไปเป็น 78% ที่น่าสนใจมีการผสมผสานการใช้งานเอไอในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนำปรับผสมผสานในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

 

ปัจจุบัน ทรัพยากรที่มีมูลค่ามากที่สุดไม่ใช่นำ้มันแต่เป็น “ข้อมูล” ซึ่งจากนี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริการบนดิจิทัล และการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาพลิกโฉมการใช้ชีวิตและธุรกิจอย่างเมตาเวิร์ส

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญในเรื่องนี้คือ จะจัดการและนำมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งขณะนี้นับว่าไทยเดินไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี หน่วยงานภาครัฐตื่นตัวให้ความสำคัญทั้งด้านการจัดการข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และไซเบอร์เบอร์ซิเคียวริตี้

 

เขากล่าวว่า ระยะหลังมานี้เทรนด์ที่ทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญทั่วโลกคือ การพัฒนาทางดิจิทัลควบคู่ไปกับรักษาสิ่งแวดล้อม เดินหน้าไปสู่เทคโนโลยีสีเขียว

 

โดยการไปถึงจุดนั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีไอซีทีเพียง 2% จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้กว่า 15-20% เรื่องนี้สำคัญอย่างมากที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาชน ต้องร่วมมือกันเพื่อก้าวไปสู่โลกอนาคตที่มีความชาญฉลาดและคาร์บอนต่ำ