บราเดอร์วางกลยุทธ์ CSB 2024 ครองผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์ไทย

25 มี.ค. 2565 | 09:52 น.

บราเดอร์ รุกตลาดด้วยกลยุทธ์ CSB 2024 ตั้งเป้าการเติบโต 14% ในปีงบประมาณ 65 มุ่งนำเสนอหลากหลายสินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มใช้เทคโนโลยีเสริมงานบริการ ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บราเดอร์ ได้วางกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจ 3 ปี หลังจากนี้ไว้ภายใต้กลยุทธ์ CSB 2024 (Challenge Strategy Brother 2024) ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2565-2567 ผ่าน 3 แนวทาง ประกอบด้วย  Re-energizing Business การปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนากลยุทธ์สู่การเติบโตจากปัจจุบันสู่อนาคต Sustainability การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับสังคม (local community) และสิ่งแวดล้อม (environment) โดยดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม (Good Governance) 
 

บราเดอร์วางกลยุทธ์ CSB 2024 ครองผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์ไทย

และ Driving DXหรือการขับเคลื่อนด้าน Digital  Transformation (DX) โดยการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐานและเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนขั้นตอนการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร เพื่อให้พร้อมเติบโตคู่กับไปกับกระแสเทคโนโลยีที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบัน โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของบราเดอร์ทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

"ความท้าทายของการทำธุรกิจในปี 2565 คือความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ทั้งสถานการณ์โรคระบาดกลายพันธุ์ เรื่องสงครามระหว่างประเทศ การถีบตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจทั่วโลก

 

นอกจากนี้ การคาดการณ์ด้านดีมานด์ที่แท้จริงของตลาดก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของภาคธุรกิจเช่นกัน บราเดอร์เองต้องมีการประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถส่งมอบสินค้าที่ตลาดต้องการได้ถูกช่วงเวลาเพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้าและสร้างการเติบโตให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" 

 

ปัจจัยด้านการผลิตยังคงเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่บราเดอร์ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในปีนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่า 2 ปีที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกธุรกิจต้องกำหนดมาตรการการทำงานแบบเว้นระยะห่าง ส่งผลให้สายงานการผลิตต้องควบคุมจำนวนพนักงานภายในโรงงานตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้มีปริมาณการผลิตที่ลดลง ประกอบกับสถานการณ์ด้านวัตถุดิบที่มีปริมาณไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการกระจายสินค้าเพื่อเติมเต็มความต้องการตลาดที่ยังเห็นสัญญาณการยังเติบโตอยู่ด้วยเช่นกัน

"ทั้งนี้ ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดเครื่องพิมพ์ในปี 2564 ตามรายงานของ จีเอฟเค(GFK) ระบุว่า บราเดอร์ยังครองความเป็น 1 ใน 3 แบรนด์ผู้นำของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างอัตราการเติบโตให้เกิดขึ้นใน 3 กลุ่มเครื่องพิมพ์จนสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ได้สำเร็จท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์อยู่ที่ 37.1%

 

กลุ่มเครื่องพิมพ์โมโนเลเซอร์มัลติฟังก์ชัน 64.3%, กลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์มัลติฟังก์ชัน 47.9% ทั้งยังครองอันดับ 2 ในกลุ่มเครื่องพิมพ์คัลเลอร์เลเซอร์อยู่ที่ 19.5% และจากปัจจัยด้านวัตถุดิบทำให้เครื่องพิม์อิงค์แทงค์ของบราเดอร์ยังคงเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ของตลาดอยู่ที่ 20%"

 

ด้านนายณเอก สงศิริ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท  บราเดอร์คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า นอกจากจะมุ่งสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์แล้ว บริษัทฯ ยังได้พัฒนาแผนเพื่อสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจnon-print พร้อมกับพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการนำสินค้าที่มีมาสร้างเป็นโซลูชันเพื่อตอบความต้องการของตลาด 

 

พร้อมเพิ่มการรับรู้ในส่วนออฟไลน์ให้มากขึ้นทั่วประเทศด้วยการกระจายสินค้าไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นถึงศักยภาพสินค้าจริงด้วยตนเองเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย และสานต่อการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้จากการใช้วัสดุสิ้นเปลืองแท้ (Genuine Consumable products) จากบราเดอร์ภายใต้ความร่วมมือกับช่องทางการขายที่จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์แท้ 

 

ทั้งนี้ การเติบโตของช่องทางขายแบบอีคอมเมิร์ซ (E-commerce Channel) ส่งผลอยากมากต่อประสิทธิภาพการขายในยุคปัจจุบัน บราเดอร์ จึงได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพในด้านดังกล่าวแก่ช่องทางการขายทั่วประเทศ พร้อมทั้งตั้งเป้าส่งสินค้าใหม่ๆป้อนสู่ตลาดตลอดปี 2565

 

"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บราเดอร์ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างการรับรู้(brand awareness) ผ่านโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง โดยสามารถเพิ่มยอดผู้ติดตามและแฟนเพจได้อย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับแบรนด์ที่มีลักษณะโดยรวมที่คล้ายกัน และในปีนี้เราจะก้าวไปอีกขั้นภายใต้กลยุทธ์ Brand Preference เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าแบบครบทุกมิติ 

 

พร้อมส่งมอบความประทับใจจากประสบการณ์การใช้จริงจากลูกค้าในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งยังคงเน้นหนักในการนำเสนอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียดังเช่นที่ผ่านมา และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อด้วยการจัดโปรโมชันพิเศษอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำสินค้าในเครือบราเดอร์ทั้งหมดมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า" นายณเอก สงศิริ กล่าวถึงแผนการพัฒนาจากการสร้างการรับรู้สู่การก้าวสู่แบรนด์ในใจของผู้บริโภคในไทย

 

ด้านแผนการสร้างการเติบโตในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น กลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์เลเซอร์และสแกนเนอร์จะมุ่งเน้นการเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจทที่ปัจจุบันได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากช่องทางโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะทวิตเตอร์ จะเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์การทำงานที่ผสมผสานระหว่างการทำงานในสำนักงานและที่บ้าน 

 

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอย่างเครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัล GTX ก็จะยังคงมุ่งทำตลาดสู่กลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่ต้องการริเริ่มและต่อยอดธุรกิจที่ตนเองมีให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของเครื่องพิมพ์ฉลาก P-Touch จะมุ่งการนำเสนอแบบโซลูชันใหม่เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจ 

 

ส่วนจักรเย็บผ้าจะเน้นกลุ่มจักรปัก เพื่อรองรับการเพิ่มตัวของการเปิดสถานศึกษาและรองรับกระแสนิยมด้านงาน DIY และพร้อมรองรับการกลับมาเปิดให้บริการของสถานบันเทิงและการปรับปรุงระบบเสียงของพื้นที่ประชุมด้วยกลุ่มธุรกิจเครื่องเสียง BMB"