กลุ่มเบญจจินดาชิงเค้กไซเบอร์ซีเคียวริตี้พันล้านใน 3 ปี

28 ก.พ. 2565 | 09:59 น.

กลุ่มเบญจจินดา ตั้ง ไซเบอร์ อีลีท ชิงตลาดหมื่นล้าน หวังส่วนแบ่งตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี คาดเติบโตอย่างก้าวกระโดด รายได้ 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี ด้วยจุดเด่น ความเชี่ยวชาญของบุคลากร พร้อมด้วยบริการระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ได้ตามความต้องการของลูกค้าถึงขั้นสูงสุด

ดร.ศุภกร กังพิศดาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด ในกลุ่มเบญจจินดา เปิดเผยว่า กลุ่มเบญจจินดามีประสบการณ์ดูแลไซเบอร์ซิเคียวริตี้ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ ล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด (Cyber Elite) ขึ้นมา ภายหลังจากเห็นโอกาสการเติบโต โดยองค์กรภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญของระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยของไซเบอร์

 

ขณะที่กฎระเบียบหน่วยงานการกำกับดูแล (Regulator) เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้

              

ทั้งนี้จากการสำรวจของบริษัทวิจัยระดับโลก คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 การเติบโตของตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในไทย ในเอเชียจนถึงระดับโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีแนวโน้มการเติบโตอัตรา 20-30% ซึ่งปัจจัยหนุนในปีนี้และปีหน้ามาจากผลพวงของโควิด-19 รวมทั้งการที่คน go digital กันมากขึ้น นอกจากนี้พวก emerging tech อย่าง blockchain, web 3 ก็น่าจะทำให้คนมีความกังวลเรื่องของการถูกโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้นด้วยเช่นกัน”

 

ดร.ศุภกร กล่าวว่า ในปีแรกไซเบอร์ อีลีท ตั้งเป้ามีรายได้ 3-4% ของตลาดรวมไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในไทยที่คาดว่าปีนี้จะมีมูลค่า 11,000-13,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต ของภาพรวมตลาดต่อปี 15-20% โดยไซเบอร์ อีลีทมีเป้าหมายเติบโตเฉลี่ย 30%-50% หรือมีรายได้ถึง 1,000 ล้านบาทในปี 2568 โดยให้บริการในลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างยืดหยุ่นเหมาะสม ตามความจำเป็นของประเภทธุรกิจ หรือองค์กรนั้นๆ

สำหรับ ตลาดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใน 3 ปีแรกของไซเบอร์ อีลีท จะเข้าขยายลูกค้าในกลุ่มตลาดภาคเอกชนเป็นหลัก หรือคาดว่ามีสัดส่วนรายได้ประมาณ 70% ของรายได้รวม โดยให้ความสนใจทั้งกลุ่มที่มี security maturity ที่สูง เช่น กลุ่มธนาคารหรือ tech company ซึ่งจะสนใจเรื่องบริหารจัดการด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่ากับการลงทุน เพื่อตอบโจทย์การรับมือภัยไซเบอร์ ส่วนตลาดที่ยังไม่ มีความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามจะเข้าไปให้บริการ managed security services ที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันเราก็มีการนำเอาแนว ทางของ data driven organization มาใช้ในการวิเคราะห์ติดตามประสิทธิภาพ performance และปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

 

ดร.ศุภกร กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของไซเบอร์ อีลีท ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี (Cybersecurity Service Provider) ภายใน 1-3 ปีนี้ เนื่องจากตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตีในประเทศ ไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งนี้เป็นเทรนด์ของทั้งโลก เฉพาะในไทยแล้ว ปัจจัยหนุนที่จะทำให้ไซเบอร์ อีลีท เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ได้แก่ 1. จากกฎเกณฑ์ของดูแลของหน่วยงานกำกับดูแล ที่บริษัท หรือองค์กรภายใต้การดูแลต้องปฏิบัติตาม (Regulatory requirements) 2. เรื่องระบบความปลอดภัยบนคลาวด์ ( Cloud security ) และ 3. องค์กรเห็นความสำคัญของการให้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการบริหารจัดการให้แทนดำเนินการเอง