GISTDA ต่อยอด COVID-19 iMap เครื่องมือบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่

15 พ.ย. 2564 | 07:36 น.

GISTDA จับมือ วช. ต่อยอด COVID-19 iMap สู่การพัฒนาระบบแสดงผลเพื่อช่วยตัดสินใจ บริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่ เริ่มนำร่องแล้ว 5 จังหวัดต้นแบบ

นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการภารกิจด้านภูมิสารสนเทศของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เปิดเผยว่า GISTDA ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ต่อยอดการพัฒนาระบบบริหารสถานการณ์รองรับการแพร่ระบาดโควิด – 19 ให้เป็น Platform รองรับการใช้งานให้กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการภารกิจด้านภูมิสารสนเทศ GISTDA

สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจออกมาตรการ รวมถึงบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่ เริ่มนำร่องแล้วใน 5 จังหวัดต้นแบบ

การพัฒนาระบบบริหารสถานการณ์ในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้ทุนอุดหนุนการวิจัยจาก วช.ซึ่ง GISTDA ต้องการพัฒนาต่อยอดการสนับสนุนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สามารถรองรับการใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,200 ผู้ใช้งานทั่วประเทศ ในพื้นที่ 5 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ชลบุรี และภูเก็ต โดยพัฒนาเป็นต้นแบบข้อมูลภาพสรุปในหน้าเดียว (Dashboard) อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ดังกล่าว

GISTDA ต่อยอด COVID-19 iMap เครื่องมือบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่

เพื่อให้ผู้บริหารสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ติดตาม วางแผน ออกมาตรการ และบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่อย่างสมดุลทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารแต่ละจังหวัด ปกครองจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดตลอดจนการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนั้นๆ

การพัฒนา Covid-19 iMap ในครั้งนี้ 5 จังหวัดพื้นที่นำร่องเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของจังหวัดที่มีบริบทที่แตกต่างกันออกไป อาทิ เชียงราย เป็นจังหวัดที่มีการค้าชายแดนที่ความสำคัญด้านการค้าและแรงงาน อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ศูนย์การค้าและการเงิน (แม่สาย) ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและท่าเทียบเรือนานาชาติ (เชียงแสน) และศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (เชียงของ), เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมเรื่องการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงนิเวศน์จำนวนมาก อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมและประเพณีอันเก่าแก่ จึงถือเป็นจังหวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเป็นอย่างดี 

GISTDA ต่อยอด COVID-19 iMap เครื่องมือบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่

ตาก เป็นจังหวัดตัวแทนของการค้าชายแดนที่ติดต่อกับพม่า ซึ่งมีอำเภอแม่สอดเป็นจุดการค้าที่สำคัญที่ใช้ในการนำเข้าและส่งออกสินค้า จึงถือเป็นจังหวัดตัวแทนที่มีการติดต่อ ค้าขาย และมีแรงงานเข้าออกเป็นจำนวนมาก , ชลบุรี เป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีแรงงานที่เป็นประชากรแฝงจำนวนมาก เป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งในด้านพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายในการเสริมสร้างให้ EEC เป็นประตูเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคเอเชีย และสุดท้าย ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นจังหวัดแรก และเป็นจังหวัดเดียวที่มีสภาพเป็นเกาะ จัดเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวหากมี Platform นี้เข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลง่ายยิ่งขึ้นและทันต่อสถานการณ์

GISTDA ต่อยอด COVID-19 iMap เครื่องมือบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่

จากความร่วมมือระดับจังหวัดในครั้งนี้เราจะได้เห็นมิติใหม่ของการเชื่อมโยงข้อมูลกัน หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถเข้าถึง ร่วมกันบูรณาการข้อมูลตลอดจนนำไปประยุกต์ใช้กับประเด็นปัญหาต่างๆให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ในระยะยาวสามารถขยายผลต่อไปในมิติอื่นๆได้ในอนาคต เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจะช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ตรงจุดและที่สำคัญรูปแบบจะทำให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นโดยการนำข้อมูลมาสรุปให้เห็นภาพเด่นชัดในหน้าเดียว