เจาะพฤติกรรมนักช้อป”ช้อปปี้ VS ลาซาด้า”รับเทศกาล 9.9

27 ส.ค. 2564 | 02:49 น.

สงครามอีคอมเมิร์ซปลายปีร้อนระอุ “ช้อปปี้-ลาซาด้า” งัดกลยุทธ์สู้ประเดิมด้วยเทศ กาลช้อปออนไลน์ 9.9 ล่าสุดเผยอินไซด์พฤติกรรมนักช้อป ชี้ให้เห็นเทรนด์ช้อปปิ้งออนไลน์

นายเทอเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฎิบัติการ ช้อปปี้ ประเทศไทยเปิดเผยว่าในประเทศไทย Shopee 9.9 Super Shopping Day จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม ถึง 9 กันยายน 2564 นี้ โดยนักช้อปไม่ควรพลาดกับเหล่าดีลและสิทธิพิเศษที่ใหญ่ที่สุดบนช้อปปี้ ไม่ว่าจะเป็น สินค้าราคาสุดคุ้มเพียง 9 บาท, โค้ดลด 999 บาท, โปรโมชั่นส่งฟรีขั้นตํ่า 0 บาท, Midnight Crazy Deals

สำหรับการสำรวจพฤติกรรมนักช้อปออนไลน์ล่าสุดของช้อปปี้นั้นสามารถแบ่งนักช้อปออนไลน์ได้ 4 สไตล์ คือ1. สายช้อปเซฟ ยิ่งซื้อ ยิ่งคุ้ม-นักช้อปขาประจำ เน้นความคุ้มค่าทั้งราคาและคุณภาพ โดย 1 ใน 4 กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการมองหาดีลที่ดีที่สุดและราคาที่คุ้มที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ซึ่ง 60% ซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และ มากกว่าครึ่งวางแผนล่วงหน้า 2-3 วันก่อนทำการตัดสินใจซื้อ

2. สายช้อปชอบส่อง - มองหาสินค้าเพื่อเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ อยากซื้อก็จัดไปทันที โดยกว่า 30% เป็นนักช้อป “สายช้อปชอบส่อง” ซึ่งมากกว่า 80% ของนักช้อปกลุ่มนี้จะเลือกชมสินค้ากว่า 10 อย่าง ก่อนที่จะเลือกซื้อ และ ประมาณ 65% จะซื้อสินค้าทันทีที่รู้สึกอยากซื้อ, 3. สายช้อปสบาย สบาย - ชอบช้อปเพราะความสะดวก สินค้ามาส่งถึงที่ มีของถูกใจอยู่แล้ว โดย 22% เลือกเหตุผลหลักที่หันมาช้อปปิ้งออนไลน์เพราะความสะดวก ง่าย และปลอดภัย มากกว่าครึ่งอายุ 35 ปีขึ้นไป และเกือบ 3 ใน 5 ของกลุ่มนี้มีการช้อปปิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และ 4. สายช้อปเซียนล่ารางวัล - มองหาความสนุก จากการลุ้นรางวัลและของสมนาคุณ ช้อปแบบแอคทีฟ โดย 1ใน 10 ของนักช้อปชอบค้นหาของรางวัลและของสมนาคุณและกว่า 40% ของกลุ่มนี้เป็นเพศชาย

เจาะพฤติกรรมนักช้อป”ช้อปปี้ VS ลาซาด้า”รับเทศกาล 9.9

ขณะที่ลาซาด้าประเทศไทย ได้เปิดเผยสถิติน่าสนใจจากผู้บริโภคบนแพลตฟอร์ม พร้อมเผยทิศทางอีคอมเมิร์ซเพื่อเป็นแนวทางให้แบรนด์และร้านค้าปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยอินไซด์น่าสนใจคือ 1. ซื้อถี่ขึ้น และใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้น โดยผู้บริโภคใช้เวลาเฉลี่ยบนแอพต่อเดือน มากกว่า 70 นาที และความถี่ในการเข้ามาใช้งานเฉลี่ยเดือนละ 7 ครั้งต่อคน, 2. ซื้อเป็นเซ็ตคุ้มกว่าจูงใจมากกว่า โดยยอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งของผู้บริโภคลดลง 30% เทียบกับปี 63 โดยการจัดผลิตภัณฑ์เป็นเซ็ตพร้อมโปรโมชั่นจูงใจผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

3. ผู้หญิงยังครองแชมป์ แต่นักช้อปชายมาแรงไม่แพ้กัน โดยยอดนักช้อปผู้หญิงมีมากถึง 52% สินค้าที่ขายดีสำหรับผู้หญิง สกินแคร์ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ขณะที่ผู้ชายหันมาซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนร้านค้าสินค้าสำหรับผู้ชายก็เติบโตกว่า 30% เทียบกับปีที่ผ่านมา, 4. อยู่ที่ไหนก็ซื้อได้ คนต่างจังหวัดก็ซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น โดยนักช้อป บนแอพมากถึง 85% อยู่ต่างจังหวัด, 5. สัดส่วนอายุของนักช้อปออนไลน์-ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y มีจำนวนเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของผู้ใช้งานทั้งหมด

6. มั่นใจในแบรนด์ที่มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยคนไทย 82% นิยมซื้อของจากแบรนด์ที่มีร้านทั้งออฟไลน์และออนไลน์, 7. สินค้ายอดฮิตยังคงเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 รวมไปถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการทำ Home Isolation โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนสินค้ากลุ่มเหล่านี้มีความต้องการเพิ่มถึง 70%, 8. สินค้าดิจิทัล(Digital Goods) มาแรง โดยยอดขายแพ็กเกจตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลโตขึ้น 1,000%

และ 9. นักช้อปคาดหวังในบริการด้านการจัดส่งมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานักช้อปใช้คูปองจัดส่งสินค้าฟรี 117 ล้านครั้ง ช่วยผู้บริโภคประหยัดเงินค่าขนส่งไป 350 ล้านบาท

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,708 หน้า 19 วันที่ 26 - 28 สิงหาคม 2564