มช. ปรับตัวครั้งใหญ่สู่เป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยดิจิทัล

16 ส.ค. 2564 | 10:40 น.

มช. ปรับตัวครั้งใหญ่ด้านเทคโนโลยี เชื่อมโยงทุกมิติ อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยดิจิทัล

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมเดินหน้าพัฒนาเป็น “มหาวิทยาลัยดิจิทัล” (Digital University) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถาบันการศึกษาในยุคปัจจุบันที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการให้บริการแก่นักศึกษา บุคลากร และ ชุมชนในทุกๆด้าน อีกทั้งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยต้องมีการปรับตัวสู่การให้บริการทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ขยายการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรองรับการจัดการการเรียนการสอน การวิจัย การให้บริการชุมชนในลักษณะออนไลน์ การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและตัดสินใจแบบ 24/7 และที่สำคัญคือ การพัฒนานวัตกรรมบริการในรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์และนิเวศน์วิทยาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับยุคสมัย

มช. ปรับตัวครั้งใหญ่สู่เป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยดิจิทัล

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในช่วงการดำเนินงานตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะที่ 12 (ปรับปรุงปี 2563) มีแผนงานและกลยุทธ์สำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ การดำเนินงานด้าน Digital Transformation ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่รวมทั้งขับเคลื่อนการให้บริการในรูปแบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่ การปรับโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายทั่วทั้งมหาวิทยาลัย การอัพเกรดระบบเครือข่ายไร้สาย พร้อมเพิ่ม access points กว่า 7,000 จุด ครอบคลุมทั้ง 3 แคมปัส เพื่อรองรับการใช้งานของนักศึกษา อาจารย์และบุคลากร ให้สามารถเชื่อมสู่โลกออนไลน์สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา มีการพัฒนา Learning Platforms (MOOC, KC Moodle, Moodle Exam, Microsoft Teams, OBE Platform) การสร้างสื่อดิจิทัลต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์

รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย การนำนวัตกรรม AR/VR มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนในสาขาต่างๆ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังดำเนินการควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการให้บริการด้านงานวิจัย โดยพัฒนาศูนย์บริการประมวลข้อมูลสมรรถนะสูง (High Performance Computing) สำหรับงานวิจัยและงานบริการรับใช้สังคมขั้นสูงที่ต้องการการประมวลข้อมูลจำนวนมากในเวลาที่รวดเร็ว อีกทั้งมีการบูรณาการและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร (CMU BI system) สนับสนุนการวางแผน การวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการบริหารจัดการ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ

มช. ปรับตัวครั้งใหญ่สู่เป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยดิจิทัล

ในด้านเอกสารสำคัญทางการศึกษา มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนการให้บริการระบบออกเอกสารสำคัญทางการศึกษาเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์  “Digital Transcript” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย และด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง จึงได้ขยายบริการเอกสารสำคัญทางการศึกษารูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีก 9 รายการ ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในปี 2564 ได้แก่  หนังสือรับรองทักษะภาษาอังกฤษ CMU-eGrad เกียรติบัตรรางวัลเรียนดีประจำปี ใบแทนปริญญาบัตร หนังสือรับรองคุณวุฒิ หนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักศึกษา หนังสือรับรองรายละเอียดกระบวนวิชา หนังสือรับรองการศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หนังสือรับรองตัวสะกดชื่อสกุลและหนังสือนำส่ง Transcript

สำหรับนวัตกรรมบริการอื่นๆ มหาวิทยาลัยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยนำร่องในการให้บริการต่างๆ เช่น พัฒนาระบบเบิกจ่ายเงินวิจัย e-Payment Services ร่วมกับธนาคาร UOB เพื่อช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการเบิกจ่ายแบบเดิม การพัฒนาระบบ QR Payment Gateway ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มช่องทางในการชำระเงินโดยใช้ QR Payment ในการชำระเงินค่าลงทะเบียน ชำระค่าบำรุงหอพักนักศึกษา ค่าสาธารณูปโภค ค่าหอพัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ พัฒนาระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ CMU e-Donation  พัฒนาระบบเงินเดือน CMU Payroll สำหรับเป็นระบบการจ่ายเงินเดือนของบุคลากร ทำให้ช่วยลดขั้นตอนและเวลาการจ่ายเงินเดือนของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

 

นับเป็นอีกก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเดินหน้านำเทคโนโลยีเชื่อมโยงทุกมิติอย่างเต็มประสิทธิภาพ และถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ยกระดับการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย เพื่อพร้อมก้าวสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ