สื่อสารผ่าน แว่น AR ฮิต ร.พ. แห่ใช้รักษาผู้ป่วยรถฉุกเฉิน

04 ก.ค. 2564 | 06:09 น.

ฟินน์ โซลูชัน เดินหน้ารุก นวัตกรรมสื่อสารระยะไกลผ่านแว่น AR “YEyes” หลังโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน ประยุกต์ใช้สื่อสารการรักษาฉุกเฉินบนรถพยาบาล เตรียมระดมทุน 10 ล้านบาท พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ขยายฐานตลาดเจาะกลุ่มซ่อมบำรุงเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบไซท์ก่อสร้าง

นายนพฤทธิ์ จักขุจัน ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินน์ โซลูชั่น จำกัด สตาร์ทอัพผู้พัฒนาโซลูชันการสื่อสารทางไกลผ่านแว่นเออาร์ (AR: Augmented Reality) ภายใต้ชื่อ “YEyes” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) ในชีวิตประจำวันมีมากขึ้น โดยอนาคตอันใกล้นี้โลกเสมือนจะกลมกลืนไปกับโลกความเป็นจริง หรือ ที่เรียกว่า MR (Mix Reality) มากขึ้น ทั้งนื้ ฟินน์ โซลูชั่น เป็นสตาร์ทอัพผู้พัฒนาโซลูชันการสื่อสารทางไกลผ่านแว่นเออาร์ (AR: Augmented Reality) ภายใต้ชื่อ “YEyes” โดยเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมการแพทย์ และได้นำเสนอแก่กลุ่มโรงพยาบาลตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

สื่อสารผ่าน แว่น AR ฮิต ร.พ. แห่ใช้รักษาผู้ป่วยรถฉุกเฉิน

ทั้งนี้มีหลายโรงพยาบาลที่ได้นำโซลูชั่นดังกล่าวเข้าไปใช้งานแล้ว เช่น โรงพยาบาลศิริราช สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลเวชชารักษ์ โดยโซลูชั่น YEyes ถูกใช้ในกระบวนการรักษาผู้ป่วยระยะไกลแบบเรียลไทม์ รวมถึงงานด้านอื่นๆ เช่น ใช้คู่การปฐมพยาบาลและการรักษาฉุกเฉินบนรถพยาบาล หรือการขอความเห็นที่สองจากแพทย์ผู้อื่นที่อยู่ห่างออกไป นอกจากนี้ YEyes ยังถูกใช้ในการเทรนนิ่งฝึกอบรม การถ่ายทอดสดการผ่าตัด และการซ่อมเครื่องมือแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน”

“การที่ YEyes ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากจากกลุ่มโรงพยาบาล เป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย และการเปิดให้บริการของสัญญาณ 5G วงการแพทย์ของไทยตื่นตัวขึ้นกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยรักษาพยาบาลและให้บริการผู้ป่วย โซลูชั่น YEyes และแว่นเออาร์ที่ให้ภาพคมชัดประมวล ผลได้รวดเร็ว สามารถถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงคุณภาพสูงได้แบบเรียลไทม์ไม่มีสะดุด ช่วยให้แพทย์ที่อยู่คนละที่กับผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถวินิจฉัยอาการได้แม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงลดเวลาทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้ป่วย ล่าสุด บริษัทฯ เตรียมที่จะส่งมอบโซลูชั่น YEyes จำนวน 51 ชุด ให้กับลูกค้าโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังมีแผนจะขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในปีนี้ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ที่สามารถนำโซลูชันดังกล่าวไปใช้ในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งปกติในโรงงานอุตสาหกรรมหากเครื่องจักรเสีย และรอผู้ผลิต หรือดิสบิวเตอร์มาซ่อมนั้นมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นราว 500,000 บาทต่อชั่วโมง แต่หากนำโซลูชันดังกล่าวมาใช้ วิศวกรผู้ผลิต สามารถให้คำแนะนำการแก้ปัญหากับวิศวกรโรงงาน หรือช่างซ่อมบำรุงของโรงงานได้ทันที ช่วยประหยัดเวลาการซ่อมเครื่องจักรหน้างานได้ถึง 70% รวมถึงต้นทุนการซ่อมบำรุง เช่นในกรณีที่ต้องให้วิศวกรจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรเดินทางมา ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ เนื่องจากเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้โดยตรงจากเจ้าของเทคโนโลยีให้กับพนักงานโดยขณะนี้โรงงานใหญ่ๆ อย่าง บางกอกกราส หรือบริษัทพีระพัฒน์ จำกัด(มหาชน) เริ่มนำโซลูชันดังกล่าวไปใช้แล้ว นอกจากนี้ยังมีธุรกิจก่อสร้าง ที่มีไซท์งานเป็นจำนวนมาก ผู้ควบคุมการก่อสร้างสามารถใช้โซลูชันดังกล่าวตรวจดูไซท์งานต่างๆ ได้ โดยลดค่าใช้จ่าย และเวลาการเดินทาง

สื่อสารผ่าน แว่น AR ฮิต ร.พ. แห่ใช้รักษาผู้ป่วยรถฉุกเฉิน

นายนพฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า โดยภายในปีนี้บริษัทมีแผนทำตลาดเชิงรุก เพื่อสร้างการรับโซลูชันดังกล่าวซึ่งจากการนำโซลูชันดังกล่าวเข้าไปเสนอกับลูกค้า พบว่า 7 ใน 10 จะตัดสินใจซื้อโซลูชัน YEyes หากไม่มีปัญหาเรื่องโควิด เชื่อว่าบริษัทยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยโซลูชันการสื่อสารทางไกลผ่านแว่นเออาร์ (AR: Augmented Reality) ยังเป็นตลาดใหม่ที่ไม่มีคู่ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้บริษัทมีแผนระดมทุนเพิ่มอีกราว 10 ล้านบาท เพื่อนำเม็ดเงินลงทุนมาใช้พัฒนาตัวโซลูชัน และขยายตลาดออกไปมากขึ้น

สำหรับคุณสมบัติของ โซลูชัน YEyes แว่นสามารถสื่อสารผ่านทางไกลแบบโมบายไร้สายได้ คุณภาพคมชัดระดับ Full HD ทั้งภาพและเสียง รองรับได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Andriod และ IOS ตั้งแต่ Version 9 ขึ้นไป ขณะใช้งานระบบจะแสดงรายชื่อและสถานะของผู้ใช้งานว่า ตอนนี้ ออนไลน์ ออฟไลน์ หรือไม่ว่างอยู่ อีกทั้งยังสามารถแสดงสัญลักษณ์ข้อความจากผู้ให้คำปรึกษาแบบ Real timeได้ โดยทุกครั้งที่มีสายเข้าระบบจะแจ้งเตือนด้วยเสียงก่อนเพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใช้งานซํ้าซ้อนของผู้ใช้ หากพบคำถามหรือมีข้อสงสัยก็สามารถบันทึกภาพหน้าจอขณะสนทนาได้ทันทีทั้งรูปแบบภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง เพราะ YEyes 1 เครื่องสามารถเชื่อมต่อจอมอนิเตอร์ให้คำปรึกษาได้ถึง 5 จอ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,693 หน้า 19 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม 2564