GISTDA ทดสอบใยกัญชง เล็งใช้งานอุตสาหกรรมอวกาศและการบิน

30 มิ.ย. 2564 | 09:23 น.

GISDA ทดสอบเส้นใยไฟเบอร์จากใยกัญชง พบมีความแข็งแรงกว่าใยไฟเบอร์กลาส 25-30% เทียบต่อน้ำหนัก ระบุมีคุณสมบัติดูดกลืนเสียงได้ดี และสามารถลดการใช้พลังงาน เผยเตรียมใช้ประโยชน์ด้านโครงสร้างของอากาศยานไร้คนขับ หรือชิ้นส่วนภายในเครื่องบิน พร้อมเล็งหาพาร์ทเนอร์ร่วมผลิต

ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานรองผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่า คุณสมบัติข้อมูลการผลิตและทดสอบเส้นใยไฟเบอร์ ที่ทำจากใยกัญชงเทียบกับใยไฟเบอร์กลาส ผลการทดสอบออกมาว่า เส้นใยกัญชงมีความแข็งแรงกว่าใยไฟเบอร์กลาส 25-30% เทียบต่อน้ำหนัก ทำให้ลดการใช้พลังงานได้ และที่สำคัญมีคุณสมบัติดูดกลืนเสียงได้ดีด้วย 

ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานรองผู้อำนวยการ GISTDA

ในด้านผลการทดสอบ  tensile strength มีความแข็งแรงกว่าที่เห็นชัดเจนคือ  bending strength มากกว่าไฟเบอร์กลาสถึง 30-35% ทีเดียว ดังนั้น ในอนาคตการใช้ประโยชน์จากใยกัญชงในรูปแบบของวัสดุคอมโพสิท FRP (Fiber Reinforced Polymer) จะเริ่มที่ชิ้นส่วนภายในอากาศยานก่อน หรือใช้ผลิตโครงสร้างทั้งหมดของโดรน ทั้งโดรนเชิงพาณิชย์และโดรนเชิงความมั่นคง หรือโครงสร้างอากาศยานทางทหารที่เป็นเทคโนโลยีล่องหน จากคุณสมบัติดูดซับคลื่นเสียงที่ดี (ต้องมีการผลิตทดสอบในหลายๆ ความถี่ เช่น VHF,UHF, L-Band, S-band, X-band) หรือใช้ลดการแพร่กระจายรังสีจากเครื่องยนต์ของยานยนต์ทางทหารต่างๆ เพื่อลดการตรวจจับด้วยกล้องรังสีความร้อน เป็นต้น ซึ่งหากสามารถทำได้จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการปลูก แปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดการขยายตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
  GISTDA ทดสอบใยกัญชง เล็งใช้งานอุตสาหกรรมอวกาศและการบิน
ปัจจุบัน GISTDA ได้เริ่มนำใยกัญชงมาทดสอบหาคุณสมบัติทั้งด้านความแข็งแรง ทนทาน ด้านความถี่ ด้านอุณหภูมิ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านโครงสร้างของอากาศยานไร้คนขับ หรือชิ้นส่วนภายในเครื่องบิน ซึ่ง GISTDA มีพาร์ทเนอร์ด้านนี้อยู่แล้ว หรือหากมีคุณสมบัติที่เข้ากันได้กับการใช้งานบนอวกาศ ก็เป็นไปได้ที่จะนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในดาวเทียมดวงต่อๆ ไป ที่เกิดขึ้นจากการสร้างโดยฝีมือคนไทย 

GISTDA ทดสอบใยกัญชง เล็งใช้งานอุตสาหกรรมอวกาศและการบิน

ส่วนขั้นตอนการทดสอบจะเริ่มอย่างไร ทดสอบที่ไหน พอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้ คือ เริ่มจากจัดเตรียมข้อมูลมาตรฐานการทดสอบด้านคอมโพสิท โดยในเบื้องต้นจะทดสอบคุณสมบัติเชิงกลเป็นอันดับแรก โดยห้องแลป GALAXI ของ GISTDA ที่ศรีราชา ซึ่งได้รับการรับรอง AS9100 ISO/IEC17025 และ NADCAP จากนั้นเตรียมวัสดุ ผ้าใยกัญชง (ใยธรรมชาติ) เพื่อทำการขึ้นรูปเป็นแผ่นความหนาตามมาตรฐานทดสอบ ตัดและเตรียมชิ้นงานให้ได้ตามมาตรฐานการทดสอบและทดสอบ Tensile Strength หลังจากนั้นสรุปผล เปรียบเทียบคุณสมบัติความแข็งแรง Tensile Strength ของใยกัญชงกับ Fiber glass/Carbon Fiber จากฐานข้อมูล และดำเนินการจัดหา ทดลองใช้เส้นใยไฟเบอร์กัญชง (ปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทที่ผลิตเส้นใยไฟเบอร์จากใยกัญชงคือ บริษัทก้องเกียรติเทกซ์ไทล์ จำกัด) ที่บริสุทธิ์กว่าใยกัญชงที่ใช้ทอผ้าทั่วไป 

GISTDA ทดสอบใยกัญชง เล็งใช้งานอุตสาหกรรมอวกาศและการบิน

จากสรุปผลการทดสอบ หากมีข้อได้เปรียบจริงดังข้อมูลอ้างอิง จะต้องสร้างกลไกในการกระตุ้น การผลิต การใช้วัสดุสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศและการบินให้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศต่อไป เรื่องราวจากใยกัญชงมีความน่าสนใจมาก อนาคตอาจจะค้นพบคุณประโยชน์ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นได้ เทคโนโลยีเมื่อผสานกับงานวิจัยและองค์ความรู้มักจะก่อเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศมากมาย การส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยจะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาควบคู่กันไปกับการดำเนินงานในทุกมิติ