‘แฟลช’เขย่าอีคอมเมิร์ซ  รุกธุรกิจครบวงจร

05 มิ.ย. 2564 | 20:45 น.

บริการ“แฟลช กรุ๊ป” หลายพื้นที่ไม่ดีพอ “ซีอีโอ” ลั่นทุ่มขยายโครงสร้างพื้นฐานยกระดับบริการ ต่อจิ๊กซอร์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซครบวงจร ทั้งบริการคลังสินค้า เตรียมเปิดให้บริการการเงินผ่านแฟลชมันนี่ ไตรมาส 4 เชื่อกรุงศรีฟินโนเทค และ เอสซีบี เทนเอ็กซ์ ช่วยหนุนเร็วขึ้น ขณะที่กูรูอีคอมเมิร์ซ ชี้ “แฟลช” เดินเกมเปลี่ยนอุตสาหกรรม แนะปณท.ปรับโครงสร้าง ดันบริษัทลูกหาพันธมิตรรับมือ

นายคมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ สัญชาติไทยแบบครบวงจร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนล่าสุด 4,700 ล้านบาท จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจ และบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยที่ผ่านมาคิดว่าในหลายพื้นที่เรายังไม่สามารถให้บริการได้ดีพอ ซึ่งจะต้องลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานออกไปเพื่อรองรับ เช่นเดียวกับบริการเสริม ที่จะขยายออกไป ทั้งคลังสินค้า และบริการการเงินภายใต้ชื่อ “แฟลช มันนี่” ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการไตรมาส 4 โดยการมีนักลงทุนกลุ่มธนาคาร ทั้ง กรุงศรีฟินโนเทค และ เอสซีบี เทนเอ็กซ์ เข้ามานั้นจะช่วยให้บริการสามารถขยายบริการทางด้านการเงินได้เร็วขึ้น

“ถามว่าการเป็นยูนิคอร์นจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรชัดเจนหรือไม่นั้นคิดว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยธุรกิจของเรายังเดินไปตามแผนที่วางไว้ คือ มุ่งไปสู่ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจขนส่ง และยังมุ่งขยายตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียน เงินทุนที่ได้เข้ามาใหม่จะช่วยทำให้การขยายธุรกิจของเรารวดเร็วขึ้น และช่วยเร่งยกระดับการให้บริการได้ดีขึ้น สิ่งที่เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ คือทำให้นักลงทุน และผู้ใช้บริการมีความสนใจธุรกิจเรามากขึ้น

นายคมสันต์ กล่าวต่อไปอีกว่าเชื่อว่าภายหลังจากที่แฟลช กรุ๊ป ได้รับเงินลงทุน และเป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่สามารถก้าวไปสู่ยูนิคอร์น มีมูลค่าธุรกิจ 30,000 ล้านบาท หรือ 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ นั้นจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นมา โดยเชื่อว่าคู่แข่งขันจะมีการปรับตัวเองขึ้นมาแข่งขัน ท้ายสุดแล้วผู้ที่รับประโยชน์คือ ผู้บริโภค ที่จะได้รับบริการที่ดีขึ้น ในราคาถูกลง ส่วนบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด นั้นเราไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง โดยช่วงเริ่มต้นธุรกิจ “แฟลช” เป็นพันธมิตรกับ ปณท. ที่ช่วยจัดส่งสินค้าไปยังพื้นที่ห่างไกล วันนี้แฟลชยังมองปณท.เป็นพันธมิตร โดยปณท. ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งพัสดุของประเทศ

อนึ่งแฟลช กรุ๊ป สามารถระดมทุนรอบซีรีส์ D+ โดยมีผู้ร่วมทุนรายใหม่อย่าง SCB 10X และ บริษัทจันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้พริ้นท์ติ้ง จำกัด เข้าสนับสนุน และในส่วนของซีรีส์ E ก็ยังคว้า Buer Capital กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ ร่วมด้วย SCB 10X ที่ให้การสนับสนุนทั้งซีรีส์ D+ และ E ตามด้วยผู้ลงทุนเดิมอย่าง eWTP, บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์, บริษัท เดอเบล จำกัด (Durbell) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP, บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด (Krungsri Finnovate) ในเครือกรุงศรี กรุ๊ป ที่ลงทุนเพิ่มในซีรีส์ E ซึ่งดีลใหญ่นี้ทำให้กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) สามารถระดมทุนไปได้สูงถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ธุรกิจในเครือแฟลช กรุ๊ป ประกอบด้วย Flash Express ผู้ให้บริการขนส่งแบบครบวงจร ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นหัวใจหลักในการบริหารจัดการด้านระบบขนส่ง โดยปัจจุบัน Flash Express มียอดจัดส่งพัสดุต่อวันสูงสุดร่วม 2 ล้านชิ้น มีรถให้บริการคนส่ง 15,000 คัน มีจำนวนสาขาทั่วประเทศ 10,000 แห่ง มีพนักงานราว 27,000 คน นอกจากนี้ยังมีบริการ Flash Fulfilment คลังสินค้าแบบครบวงจร โดยมีคลังสินค้าอยู่ทั่วประเทศ 26 แห่ง และมี Flash Money ให้บริการทางด้านการเงิน ที่คาดว่าจะเปิดบริการไตรมาส 4 ปีนี้ 

ขณะที่นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กูรูด้านอีคอมเมิร์ซ และนักลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ กล่าวว่าหากพิจารณาจากโรดแมปธุรกิจ แฟลช กรุ๊ป ไม่ได้มองตัวเองเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ แต่เป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร ที่มีทั้งคลังสินค้า และบริการทางด้านเงิน การได้เม็ดเงินลงทุนเข้ามาใหม่ จะช่วยให้แฟลช กรุ๊ปมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และมีความน่ากลัวมากขึ้น คู่แข่งขันจะลำบากมากขึ้น เพราะที่ผ่านมากลยุทธ์ที่แฟลชใช้มาตลอด คือ เกมเชนจ์เจอร์ เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบบริการ และราคา เช่น การรับพัสดุถึงหน้าบ้าน หรือ คิดค่าบริการส่งสินค้า 19 บาท ซึ่งต่อไปเชื่อว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการคลังสินค้า และบริการด้านการเงินในระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซด้วย

“คนที่น่าจะได้รับกระทบมากสุดคือ ไปรษณีย์ไทย ที่มีโครงสร้างต้นทุนสูงกว่า ทั้งจำนวนพนักงาน อายุองค์กรที่ให้บริการมา 60 ปี อายุพนักงาน และสาขาบริการ ทั้งยังมีระบบการทำงานแบบรัฐวิสาหกิจ ทางออกที่ดีสุดคือต้องปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยอาจให้บริษัทลูก เข้าไปลงทุนหรือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจ หรือบริการ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจหลัก”

“ฐานเศรษฐกิจ”ได้พยายามติดต่อสอบถามความเห็นไปยังบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งได้รับคำตอบว่า ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการ
ผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะให้สัมภาษณ์ทิศทางไปรษณีย์ไทยเร็วๆ นี้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,685 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564