ETDA  ชู 4 ยุทธศาสตร์ หนุน “ดิจิทัล ไอดี” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

10 ก.พ. 2564 | 09:40 น.

ETDA ชู 4 ร่างแผนยุทธศาสตร์ธุรกรรมฯ ชาติ ผลักดัน Digital ID ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ตั้งเป้า ปี 65 ติดท็อป 20 Ease of Doing Business

     นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอกนิกส์(สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายในงานดังกล่าวว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 วรรคสอง ได้กำหนดให้ ETDA จัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสนอคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(คธอ.) ให้ความเห็นชอบนั้น ช่วงเวลาที่ผ่านมา ETDA ได้ดำเนินการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564-2565 (แผนระดับที่ 3) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอกนิกส์(สพธอ.) หรือ ETDA

     โดยล่าสุดผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) แล้วเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 และอยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรองของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อประกาศใช้ในลำดับต่อไป จึงเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ของ ETDA เพื่อมาร่วมทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระสำคัญร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักคือ World Bank’s Ease of Doing Business ของประเทศเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 21 ในปี 2563 เป็น Top 20 ในปี 2565 และความเชื่อมั่นในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 4% ต่อปี(เป็น 85% ในปี 2565) โดยมี ยุทธศาสตร์หลัก 4 ประเด็น ที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นภายในระยะ 2 ปีนี้  ได้แก่

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จำเป็น เพื่อรองรับการทำธุรกรรม
ทางอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 มุ่งพัฒนามาตรฐานและกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 เพื่อยกระดับระบบการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้พร้อมยกระดับความพร้อมด้านกำลังคน (Manpower) และบริหารจัดการข้อมูลจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ETDA  ชู 4 ยุทธศาสตร์ หนุน “ดิจิทัล ไอดี”  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

     โปรแกรมที่ 1 Digital ID for Economy and Society มุ่งเน้นประเด็นการยืนยันตัวตนทางออนไลน์ (Digital ID)   มีการผลักดันให้เกิดการใช้ Digital ID และมีการเชื่อมโยงทั้งฝั่งภาครัฐและภาคเอกชน โดยกำหนดเป้าหมายในปีนี้ 2564 เพื่อรองรับกฎหมายที่จะมีประกาศ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล(Personal Digital ID) มีมาตรฐานและกฎเกณฑ์เพื่อรองรับการใช้งาน Digital ID ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างรอบด้าน 

 

      เพื่อผลักดันการใช้งานและเชื่อมโยงมาตรฐาน ส่วนเป้าหมายในปี 2565 ได้วางแผนในการผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลในส่วนของนิติบุคคล (Corporate Digital ID) และ National Authentication Infrastructure มีมาตรฐานและกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการ Digital ID ทั้งในส่วนของ Personal และ Corporate Digital ID และเกิดการเชื่อมโยงระบบบริการด้วย DID ที่จะส่งผลต่อภาพรวมของประเทศต่อไป

 

     โปรแกรมที่ 2 Thailand’s digital services & cross digital platform standard ในโปรแกรมนี้เน้นหนักในด้านมาตรฐาน (แนะนำ, บังคับ) กฎหมาย มาตรการที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจบริการ (Digital e-Service) ซึ่งในแผนได้มีการเสนอการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยตัวชี้วัด คือ มีแพลตฟอร์มและมาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนมีความสำเร็จในการออกมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ มีกระบวนการขอใบอนุญาตตามเกณฑ์ของ Ease of Doing Business ที่มีจำนวนขั้นตอนและระยะเวลาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการส่งผลต่อมูลค่า e-Commerce ที่เพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 4% ต่อปี โดยได้วางเป้าหมายสำคัญในระยะ 2 ปี  มีแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2566-2570 มี Roadmap ในการกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีมาตรฐานและกฎเกณฑ์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับแพลตฟอร์ม National Services   ผลักดัน e-Transaction Data Exchange โดยการคำนึงถึงประเด็นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Data privacy) และการให้ความยินยอมทางออนไลน์ (e-Consent) รวมไปถึงการพัฒนากำลังคน (Manpower) ในกล่ม Digital Service Provider รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เพื่อมารองรับการดำเนินงานตามกลยุทธ์การดำเนินงาน

โปรแกรมที่ 3 e-Transaction standard promotion ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมฯ ให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของมาตรการ เรื่องธุรกิจบริการ เช่น การทำ Digital Service Sandbox ที่เน้นให้เกิดการทดสอบโดยมีเกณฑ์ทั้งในด้านความปลอดภัย, ความเป็นส่วนตัว, ความรับผิดชอบ, ความน่าเชื่อถือ รวมทั้งส่งเสริมกลุ่มธุรกิจบริการที่ได้รับรองมาตรฐานด้วย และมีการสร้างมาตรการ หรือเครื่องมือเพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีการใช้ระบบการบริการฯ ที่มีมาตรฐานในโปรแกรมนี้ได้วางเป้าหมายปี 2564 เช่น ผู้ประกอบการมีศูนย์ให้คำปรึกษาและแนวทางการปฏิบัติตามข้อมาตรฐานและกฎเกณฑ์ และมีมาตรการ หรือเครื่องมือเพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีการใช้ระบบการบริการที่มีมาตรฐานส่วนเป้าหมายในปี 2565 นั้น จะเพิ่มเติมจากปี2564 คือ มีกรณีตัวอย่าง (use case) ที่มีการใช้ประโยชน์จากมาตรการหรือมาตรฐานต่างๆ ในกลุ่มธุรกิจบริการดิจิทัลได้อย่างประสบความสำเร็จ ตลอดจนมีจำนวนธุรกรรมของการให้บริการเพิ่มสูงขึ้นอีก 20% เป็นต้น

และโปรแกรมที่ 4 e-Transaction intelligence center ที่มุ่งเน้นการทำวิจัย การพัฒนาคน และสร้างความตระหนักให้กับภาคประชาชน ซึ่งจะมีทั้งมาตรการให้ความรู้สร้างความเข้าใจ รวมถึงการหาแนวทางการจัดการข้อมูลด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Transaction data management) ของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับเป้าหมายระยะ 2 ปีของโปรแกรมนี้ คือ มีแนวทาง หรือชุดข้อมูลแพลตฟอร์มที่ได้รับการรับรองด้านมาตรฐานสำหรับเป็นข้อมูลให้ประชาชน มีกลไกการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ที่มีการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้จริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อี-คอมเมิร์ซไทยตื่นตัว ร่วมลงทะเบียน ETDA ป้องกันข้อมูลลูกค้ารั่วไหล