กฟผ. ดึง AI ไอบีเอ็ม จัดการอุปกรณ์โรงไฟฟ้า

27 ม.ค. 2564 | 12:55 น.

 

 

‘กฟผ.’ ดึงเทคโนโลยี ‘เอไอ’ ของ ‘ไอบีเอ็ม’ บริหารจัดการอุปกรณ์สำคัญของโรงไฟฟ้า ระบุช่วยลดต้นทุนในการรักษาอุปกรณ์ที่มีอยู่ในคลังลงได้ถึง 30%

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ไอบีเอ็มประกาศว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หน่วยงานผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ได้นำโซลูชันบริหารจัดการสินทรัพย์ (Maximo Enterprise Asset Management) ที่ใช้เทคโนโลยีเอไอของไอบีเอ็ม เข้าช่วยบริหารจัดการอุปกรณ์สำคัญๆ ของโรงผลิตไฟฟ้า

โดยมีพันธมิตรของไอบีเอ็ม คือ บริษัท ทริปเปิลดอท คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งโซลูชันดังกล่าวช่วยให้ กฟผ. สามารถบริหารจัดการอุปกรณ์ต่างๆ ในแบบองค์รวม ตั้งแต่กระบวนการซ่อมบำรุง การบริหารคลังอุปกรณ์ การจัดซื้อชิ้นส่วน ไปจนถึงการบริหารจัดการซัพพลายเออร์ ตัวอย่างเช่น วันนี้ กฟผ. สามารถใช้เอไอช่วยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเพื่อเสริมการตัดสินใจ สามารถเห็นความเคลื่อนไหวของอุปกรณ์แต่ละประเภทที่มีอยู่ในคลัง รวมถึงบริหารและกำหนดลำดับความสำคัญของงานซ่อมแซมในเชิงรุกได้ โดยสามารถบริหารจัดการสถานะของงานต่างๆ ได้อัตโนมัติทุกที่ทุกเวลา พร้อมแสดงการรายงานผลแบบเรียลไทม์ส่งตรงไปยังอุปกรณ์โมบายล์ที่ได้รับอนุญาต

 

กฟผ. ดึง AI ไอบีเอ็ม จัดการอุปกรณ์โรงไฟฟ้า

 

 

ระบบรายงานที่เอื้อให้ทั้งองค์กรสามารถเข้าถึงมุมมองชุดข้อมูลเดียวกัน ช่วยให้ กฟผ. สามารถระบุได้ว่าอุปกรณ์ตัวใดที่ส่งผลอย่างมากต่อต้นทุนของคลังอุปกรณ์ สามารถวิเคราะห์และเข้าใจสต็อกอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการและควบคุมแตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนในการรักษาอุปกรณ์ที่มีอยู่ในคลังลงได้ถึง 30%

การปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ช่วยให้ กฟผ. สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติการ ลดต้นทุนและความซับซ้อนอันเป็นผลมาจากความซํ้าซ้อนของระบบบริหารจัดการอุปกรณ์และกระบวนการแมนวลต่างๆ ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ลงได้ 3-5% ช่วยให้ กฟผ. มีชิ้นส่วนอะไหล่สำรองพร้อมใช้ รวมถึงสามารถยืดอายุของอุปกรณ์สำคัญๆ ได้ถึง 5% ความสามารถของระบบในการเชื่อมต่อเข้ากับระบบจัดซื้อยังช่วยให้ กฟผ. สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น

 

 

 

 

นอกจากนี้ โมเดลข้อมูลและเวิร์คโฟลว์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเอไอ ร่วมด้วยการแบ่งปันทรัพยากร องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญในมุมอุตสาหกรรมทั่วทั้งองค์กร ยังผลักดันให้เกิดการนำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practices) นี้ไปใช้ทั่วทั้งองค์กร ช่วยให้ทั้งวิศวกรและผู้ดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ของกฟผ. มีความเข้าใจในสถานะของอุปกรณ์สำคัญต่างๆ มากขึ้น

ด้านนายนพพล พันธ์เงิน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. กล่าวว่าการที่ระบบเสีย บำรุงรักษาช้าเกินไป หรือการหยุดทำงานอันเนื่องมาจากปัญหาด้านคุณภาพของระบบ อาจนำสู่การหยุดชะงักของระบบไฟฟ้าและพลังงานของประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ประชาชน และธุรกิจหลายสิบล้านราย

 

 

 

 

“กฟผ. ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งตั้งอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ และมีพันธกิจหลักในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งการนำเทคโนโลยีบริหารจัดการสินทรัพย์ของไอบีเอ็มมาใช้ในครั้งนี้ จะช่วยให้ กฟผ. เห็นภาพรวมของการดำเนินงานของอุปกรณ์สำคัญๆ ของโรงไฟฟ้า ช่วยให้การบริหารจัดการเป็นไปภายใต้ความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุด”

“ความสามารถในการสรุปรวมข้อมูลจากแผนกต่างๆ แบบเรียลไทม์ รวมถึงการดึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการสินทรัพย์ต่างๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานให้กฟผ. ในหลากหลายมิติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดระยะเวลาที่ระบบหยุดทำงาน การลดค่าใช้จ่ายที่ตามมาจากการสูญเสียกำลังการผลิต รวมถึงการลดความซับซ้อนจากระบบที่ซํ้าซ้อนและกระบวนการแบบแมนวลลง เพื่อที่จะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และแบ่งปันทรัพยากรความรู้เหล่านี้ทั่วทั้งองค์กร”

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,648 หน้า 16 วันที่ 28 - 30 มกราคม 2564