เปิดรายละเอียด ภาษีอี-เซอร์วิส “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ต่างประเทศ

09 มิ.ย. 2563 | 08:48 น.

เปิดรายละเอียด ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม อี-เซอร์วิส "แพลตฟอร์มดิจิทัล" จากต่างประเทศ

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรฯ จัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก แพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศแก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศ หากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศมีรายรับจากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับกรณีผู้ประกอบการต่างประเทศได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการในประเทศไทยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ กำหนดให้รายได้ที่ได้รับจากการให้บริการนั้นเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งหากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ เพื่อป็นการสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกิดความเหมาะสมและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ 

ครม.เห็นชอบ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม "แพลตฟอร์มดิจิทัล" จากต่างประเทศ"

เปิดมติครม. เก็บภาษี อี-เซอร์วิส “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ต่างประเทศ

กฎหมายจัดเก็บภาษี "อี-เซอร์วิส ฉบับนี้สาระสำคัญคือเป็นการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับการใช้บริการในประเทศไทย โดยผู้ใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้

  • แก้ไขเพิ่มเติมให้การดําเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใด ตามประมวลรัษฎากรสามารถดําเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
  • แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคําว่า “สินค้า” และเพิ่มบทนิยามคําว่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และคําว่า “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม”
  • แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคํานวณจากภาษีขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ และกําหนดให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์
  • แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้จ่ายเงินในการนําส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และหน้าที่ ของผู้ประกอบการในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน
  • กําหนดให้การดําเนินการทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกระทําโดย กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
  • กําหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการ ทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกํากับภาษี

 ขั้นตอนต่อไปหลังจาก ครม.มีมติแล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯต่อไป เพราะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว คาดว่ากระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีตัวอย่างประเทศที่ใช้กฎหมายฉบับนี้ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ซึ่งกรมสรรพากกรจะทำคู่มือให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจในทุกขั้นตอน