‘เว้นระยะห่างสังคม’ หนุนแพลตฟอร์ม จัดการคิว‘QueQ’โต

20 พ.ค. 2563 | 04:00 น.

QueQ เผยมาตรการเว้นระยะทางสังคม พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หนุนแพลตฟอร์มบริการจัดการคิวเติบโต ร้านอาหาร ห้าง-องค์กร-ภาครัฐ แห่ใช้ บริการเพิ่ม เชื่อหลังโควิดจะกลายเป็น New Normal

    แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง และทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงักแต่ในอีกด้านนึงวิกฤติของไวรัสกลับเป็นแรงผลักให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจให้ขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นดิจิทัลได้เร็วขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกับ QueQ (คิวคิว) สตาร์ตอัพผู้ให้บริการระบบการจัดการคิวที่ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกจังหวะในช่วงสถานการณ์นี้และอาจจะกลายเป็นอีก New Normal ของคนไทย

     นายรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดการคิว QueQ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ห้างและร้านอาหารสามารถกลับมาให้บริการได้ตามปกติ แพลตฟอร์มจัดการคิว จะกลับมาเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน โดยสถานที่และกิจการหลายแห่งจำเป็นต้องมีการจัดการคิว เพื่อรองรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่กำลังกลายเป็นวิถีชีวิตยุค New Normal

“ตลาดหลักของผู้ใช้บริการ  QueQ ประกอบด้วยร้านอาหารประมาณ 300 สาขา เคาน์เตอร์บริการในมหาวิทยาลัย ธนาคารประมาณ 100 จุดและโรงพยาบาลประมาณ 50 แห่ง มาตรการล็อกดาวน์ ปิดห้างช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาทำให้ยอดการใช้งานกลุ่มร้านอาหารลดลง โดยภาพรวมแล้วลดลงไปราว 60% อย่างไรก็ตามมีสถานที่ หรือผู้ประกอบการ อาทิ หน่วยงานราชการ มีการนำระบบจัดการจองคิวไปใช้งานเพิ่มขึ้น”

 

‘เว้นระยะห่างสังคม’ หนุนแพลตฟอร์ม จัดการคิว‘QueQ’โต

 

    สาเหตุที่มีการนำระบบจัดการจองคิวไปใช้งานเพิ่มขึ้นนั้นมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีแรงผลักจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มตัวเองของร้านอาหารสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้หากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม และใช้ระบบของ คิวคิว ตั้งแต่การกำหนดโควตาเข้าห้าง การเข้าใช้บริการร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย คลินิกความงาม สปา ที่จำเป็นจะต้องมีระบบบริหารจัดการที่เป็นการนัดหมายเพื่อจำกัด จำนวนคนในการเข้าใช้บริการในสถานที่นั้นๆ และกลับออกมาได้รวดเร็ว ซึ่งคนไทยต้องอยู่กับชีวิตแบบนี้ไปอีกสักพัก

 

    ปัจจุบัน คิวคิว มีจุดให้บริการเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการโปรโมตบริการจากการทำระบบคิวมาให้บริการ นำกลับบ้าน (Take Away) และส่งถึงที่ (Delivery) ทำให้ตลาดที่เกิดขึ้นใหม่กลายเป็นร้านสแตนด์อะโลน ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่เริ่มเข้ามาใช้บริการมากขึ้น รวมถึงร้านในกรุงเทพฯ ที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า และสถานที่ราชการ ซึ่งเชื่อว่าแพลตฟอร์ม คิวคิว สามารถ ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค และมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็น New Normal ของคนไทย

      นายรังสรรค์ กล่าวว่าบริษัทได้ปรับกลยุทธ์การทำ ตลาดใหม่ เพื่อเข้าไปแข่งขันกับแพลตฟอร์มใหญ่มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นแรงผลักดันให้ต้องเปลี่ยน นอกจากนี้ยังมีช่องทางของบิสิเนสโมเดลใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่เป็น B2B แต่เมื่อโลกเปลี่ยนมีเรื่องของสังคมไร้เงินสดเข้ามามากขึ้น ทำให้ คิวคิว เริ่มมองไปที่รูป แบบธุรกิจ B2C โดยจะทำเรื่องของทรานแซคชั่นและระบบการชำระเงิน รวมถึงบริการส่งอาหารทั้งหมดก็เป็นทรานแซคชั่นเบสที่จะเป็นบิสิเนสโมเดลใหม่ไปสู่ B2C ได้

 

“วิกฤตินี้คงไม่ผ่านไปได้ง่ายๆ อย่างตํ่าน่าจะเกือบถึงสิ้นปีหรือนานกว่านั้น เพราะฉะนั้นควรที่จะอยู่กับมันให้ได้และแก้ปัญหาให้การแพร่ระบาดของไวรัสตํ่าที่สุด ซึ่งแพลตฟอร์มคิวคิว จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเรื่องนี้ "

       ขณะที่ผลกระทบครั้งนี้ได้เปิดโอกาสทางธุรกิจรวมถึงจุดประกายบางอย่างที่ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสให้ทัน ซึ่งตลาดที่น่าจะมีการเติบโตสูงสุดคือ เฮลท์เทคโซลูชัน โมเดลที่เคยวางไว้ว่าจะทำใน 2 ปีที่แล้วเกิดขึ้นภายในไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมาและเป็นโมเดลที่จะกลายเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสทางธุรกิจของเฮลท์เทคสตาร์ตอัพรายอื่นๆ และเทคโนโลยีด้านสุขภาพหรือเวลล์เนสที่จะมีดีมานด์เพิ่มขึ้นมหาศาล ไม่ใช่แค่ในประเทศ ไทยแต่จะเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้เป้าการเติบโตของคิวคิว ในปีนี้ต้องคิดในระยะสั้น ต้องชะลอการสเกลไว้และทำให้ธุรกิจแข็งแรงในเรื่องของกระแสเงินสด (Cash flow) และรายได้ให้เข้ามามากขึ้น ต้องวางแผนแบบระยะยาวมากขึ้น

โดย : ภาพิมล ภูมิถาวร

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,575 หน้า 16 วันที่ 17 - 20 พฤษภาคม 2563