ถอดรหัสธุรกิจ แอพสั่งอาหาร กำไร-ขาดทุน

11 พ.ค. 2563 | 06:03 น.

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาบริการสั่งอาหารผ่านแอพ ขึ้นมาเป็นธุรกิจราวรุ่งในยุค Lazy Economy” ตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายในชีวิต ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 ยอดการเติบโตเพิ่มขึ้น 200-300%  สร้างให้เกิดดราม่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจเติบโตมีกำไรมหาศาล  แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจยังไม่มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายใดที่สามารถทำกำไรจากการให้บริการได้  พูดง่ายๆยิ่งส่งเยอะยิ่งขาดทุน

 

ขาดทุนเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม

คำถามคือขาดทุนแล้วทำไมถึงให้บริการ  ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารผ่านแอพ  เริ่มต้นในไทย 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีโมเดลธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ ที่ลงทุนเพื่อดิสรัปต์  หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจดังเดิม   ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นระดับภูมิภาคทั้งแกร็บ  เก็ท  และฟู้ดแพนด้า   มีเม็ดเงินจากการระดมทุนมาใช้ในการขยายธุรกิจ  ลงทุนสร้างฐานผู้ใช้ขึ้นมา ลงทุนเพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งาน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค  ตัวอย่างเช่น แกร็บประเทศไทย ปี 59 รายได้ 104 ล้านบาท ขาดทุน 516 ล้านบาท  ปี 60 รายได้ 508 ล้านบาท ขาดทุน 985 ล้านบาท  ปี 61 รายได้ 1,159 ล้านบาท ขาดทุน 711 ล้านบาท  ส่วนปี 62 ยอดการขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตามการเติบโตของธุรกิจที่เติบโตขึ้น 200-300%

ถอดรหัสธุรกิจ  แอพสั่งอาหาร  กำไร-ขาดทุน

 

เจาะอีโคซิสเต็มส์

การลงทุนของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทำให้ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง ทั้งโปรโมชั่น การดึงพาร์ทเนอร์ ทั้งร้านอาหาร  และคนขับ  เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม  โดยที่มีการแข่งกันอย่างจริงจังขณะนี้ ประกอบด้วย 4 รายใหญ่  คือ แกร็บ ฟู๊ด , เก็ท , ฟู้ดแพนด้า และไลน์แมน   โดยหัวใจของธุรกิจแพลตฟอร์มฟู๊ดดิลิเวอรีผ่านแอพ คือการสร้างอีโคซิสเต็มส์  ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจคนเรามีอยู่ 4 ห้อง ห้องแรกคือลูกค้า ห้องที่ 2 คือ พาร์ทเนอร์คนขับ ห้อง 3 คือ ร้านค้า และห้อง 4 คือแพลตฟอร์ม   ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจะสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในอีโคซิสเต็มส์  และการเติบโตของธุรกิจ 

 

สำหรับส่วนแบ่งรายได้จากบริการในอีโคซิสเต็มส์นั้น สมมติในกรณีสั่งอาหารราคา 150 บาท’ ร้านอาหารมีรายได้ 105  บาท ค่าคอมมิชชันรายได้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอยู่ที่ 30%  คือ 45 บาท บวกค่าส่งอาหาร โดยในกรณีร้านอาหารที่จัดโปรโมชันเมื่อลูกค้าสั่งอาหารในระยะทาง 3 กิโลเมตรแรกจะต้องจ่ายค่าส่งที่ 10 บาท  (ส่วนมากจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5 กิโลเมตร เท่ากับว่าค่าส่งจะอยู่ที่ 20 บาท)   เท่ากับว่ามีรายได้จากออร์เดอร์ที่ 65 บาท    แบ่งให้กับคนขับได้รับเงินค่าส่งขั้นต่ำอยู่ที่ 40-50 บาท (บางกรณีอาจสูงถึง 60 บาท ขึ้นอยู่กับความถี่ในการขับ โบนัส)   และค่าใช้จ่ายทางการตลาด ค่าเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม เฉลี่ยประมาณ 15 บาทต่อออร์เดอร์  เท่ากับผู้ให้บริการขาดทุนทุกออร์เดอร์ประมาณ 5-15 บาท

 

อนาคตหลังโควิด รุ่ง-ร่วง 

แม้ว่าจะยังขาดทุนอยู่ แต่แนวโน้มอนาคตยังน่าจะสดใส  โดยวิกฤติโควิด 19  ทำให้เกิดผู้ใช้บริการหน้าใหม่  ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว  ธุรกิจแพลตฟอร์มสั่งอาหารผ่านแอพ  จะกลายเป็น New Normal  ที่คนไทยคุ้นชินกับบริการหลังจากโควิด  ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในกลุ่ม On-Demand ที่ได้รับความนิยมในปี 2563 จะมีมูลค่าสุทธิที่ 1.42 แสนล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 32.5 จากสถานการณ์ปกติ ซึ่งหลังจากนี้คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไวรัสโควิด-19 ว่าจะคลี่คลายเมื่อไร อย่างไรก็ดี ตลาดของธุรกิจจัดส่งอาหาร (food delivery) ปี 2563 คงจะอยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ ทั้งนี้หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย คาดว่าFood delivery จะกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ของธุรกิจร้านอาหาร และอาจเป็น หนึ่งในช่องทางหลักในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการ

ขณะที่ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมทางออนไลน์ การใช้บริการ Online Food Delivery ของคนไทย” สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)  พบว่า ผู้ใช้งานกลุ่ม Gen Y (อายุ 19-38 ปี) มีการใช้บริการ Online Food Delivery มากที่สุดถึง 51.09%  รองลงมาคือกลุ่ม Gen X (อายุ 39-54 ปี)  ส่วนเหตุผลที่ใช้บริการ 80.37% ไม่อยากจะเดินทางไปนั่งกินที่ร้านเองมาก  57.63%  ไม่อยากเสียเวลาไปนั่งต่อคิวถึง  และ 47.04% ส่วนลดในแอพ

ขณะที่ แพลตฟอร์ม ที่เป็นตัวกลางในช่วยเราสั่งอาหารมากสุดถึง 88.47% โดย แพลตฟอร์ม ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แกร็บ ฟู๊ด, เก็ทฟู๊ด หรือฟู้ดแพนด้า  และอื่น ๆ อีกมากมายต่างก็มีโปรโมชั่น ที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป 

ส่วน “Fast Food” เช่น ไก่ทอด เบอร์เกอร์ พิซซ่า เป็นอาหารยอดนิยมของทุกช่วงวัย สั่งมากกว่า 61.06% รองลงมาคือ อาหารตามสั่ง 47.04% และ ก๋วยเตี๋ยว/อาหารประเภทเส้น 40.50%และกลุ่มที่จ่ายหนักสุดคือ “Gen X”  อายุ 39-54 ปี ใช้จ่ายที่  501 – 1,000 บาท รองลงมาคือ กลุ่ม Baby Boomer ส่วนใหญ่ใช้จ่าย 301 – 500 บาท ขณะที่กลุ่ม Gen Y และ Gen Z ใช้จ่ายไม่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่อยู่ที่ 101 – 300 บาท