WHAUP ดันโซลาร์รูฟท็อป 150 MW เคลม 31 โครงการ ลดคาร์บอน 3.3 แสนตัน

21 พ.ย. 2565 | 07:17 น.

WHAUP ลุยลงทุนโซลาร์รูฟท็อป มั่นใจปีนี้ดันเป้า 150 เมกะวัตต์ ตอบโจทย์ Net Zero ปี 2593 หลัง 31 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.6 พันล้านบาท กำลังผลิต 68,174.43 กิโลวัตต์ ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต 339,803 ตันคาร์บอนไดออกไซค์เทียบเท่า

นายสมเกียรติ  เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า จากที่กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group มีเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ.2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ตามแนวทาง SBTi (Science Based Targets Initiative)

 

สอดคล้องกับทิศทางของโลกและประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทได้เดินหน้าขยายพอร์ทการลงทุนในการพัฒนาโซลูชันด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง

WHAUP ดันโซลาร์รูฟท็อป 150 MW เคลม 31 โครงการ ลดคาร์บอน 3.3 แสนตัน

 

ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถเซ็นสัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มจำนวน 10 สัญญา โดยแบ่งเป็นโครงการ Private PPA จำนวน 8 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 5 เมกะวัตต์ และโครงการ EPC service จำนวน 2 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 6 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทฯ มีจำนวนเซ็นสัญญาโครงการ Private PPA สะสมจำนวน 131 เมกะวัตต์ และคาดว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามทั้งหมดของโครงการโซลาร์รูฟท็อปของบริษัทฯ จะสูงถึง 150 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้

 

นอกจากนี้ บริษัทฯสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าเพิ่มเติมอีก 7 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ที่เปิดดำเนินเชิงพาณิชย์แล้วรวม 69 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมด 619 เมกะวัตต์

อีกทั้ง บริษัทฯมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะโดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทเซอร์ทิส จำกัด “Sertis” พัฒนาระบบ Peer-to-Peer Energy Trading Platform ภายใต้ชื่อว่า Renewable Energy Exchange (RENEX) ที่ได้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน (ERC) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถประมูลซื้อหรือขายไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างกันเองได้อย่างเสรีผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำธุรกรรม และอำนวยความสะดวกในการซื้อขายพลังงานระหว่างผู้ใช้อุตสาหกรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียม การสุดท้ายสำหรับการดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ แพลตฟอร์ม RENEX จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ ไทยด้วยการลดต้นทุนด้านพลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้นอีกด้วย

 

“โครงการนี้มีผู้ประกอบการชั้นนำในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอเข้าร่วมเป็นผู้ซื้อขายพลังงานจำนวนมากถึง 23 บริษัท ทั้งนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายในการให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะเริ่มขึ้นได้ในเร็ว ๆ นี้”

 

สำหรับผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ รับรู้รายได้เท่ากับ 75 ล้านบาท และ 178 ล้านบาทตามลำดับ ถ้านับเฉพาะรายได้จากธุรกิจ Private PPA ใน 9 เดือนแรกของปี 2565 มีการเติบโตถึง 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

แหล่งข่าวจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2565 โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 68,174.43 กิโลวัตต์ จำนวน 31 โครงการ มูลค่าลงทุน 1, 612 ล้านบาท ของบริษัท WHAUP ที่ได้ลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป ให้กับลูกทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ( T-VER)

 

ทั้งนี้มีปรมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ 101,837,040 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ในระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิต ของโครงการจากการคำนวณเท่ากับ 48,543 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ตลอดระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการเท่ากับ 339,803 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566-31 ธันวาคม 2572