“โลตัส” ทุ่ม 1.5 หมื่นล้านต่อปี สร้างธุรกิจยั่งยืนสู่ Net Zero

06 พ.ย. 2565 | 05:04 น.

"โลตัส" ทุ่มงบลงทุน 1.2-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เดินหน้า Net Zero ปี 2050 ปูพรมติดตั้งใช้พลังงานหมุนเวียน โซลาร์รูฟท็อปในห้างโลตัส และศูนย์กระจายสินค้า 1,042 สาขา ภายในปี 2024 จากปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 522 สาขา รวมทั้งการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งสินค้า

ในแต่ละปี ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย จัดสรรงบลงทุนราว 12,000-15,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อใช้ในการขยายสาขา ลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการลงทุนพัฒนาธุรกิจด้านความยั่งยืน เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย คือ การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ.2030 และองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2050

 

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบุคคลและความยั่งยืน บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารห้างค้าปลีกโลตัส กล่าวว่า โลตัสดำเนินธุรกิจด้วยเป้าหมาย การมุ่งสู่ “New SMART Retail” มีพื้นฐานสำคัญ คือ นโยบายและแผนงานด้านความยั่งยืน ภายใต้นโยบาย Vision 2030. Actions every day. ด้วยการสร้างความยั่งยืนจากการดำเนินงานในทุกวัน และทุกมิติ เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่ได้วางไว้ภายในปี ค.ศ. 2030

 

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี นโยบายด้านความยั่งยืนของโลตัสที่ดำเนินมาต่อเนื่อง ถือว่าสอดคล้องไปกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน 15 ข้อของกลุ่มซีพี อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมี 5 ข้อหลักๆ ที่โลตัสนำมาปรับให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ครอบคลุมทั้งด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG)

 

ในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ประกอบด้วยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate resilience) ด้วยเป้าหมายการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยกาซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

 

“โลตัส” ทุ่ม 1.5 หมื่นล้านต่อปี สร้างธุรกิจยั่งยืนสู่ Net Zero

โลตัสมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น อาทิ การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ของสาขาโลตัส และศูนย์กระจายสินค้า 1,042 สาขา ภายในปี 2567 โดยปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 522 สาขา

 

นอกจากนี้ ยังใช้รถพลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี ในการขนส่งสินค้า และยังมีแผนขยายการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในศูนย์ของโลตัสสาขาต่าง ๆ ซึ่งจะมีความคืบหน้าชัดเจนในปี 2566 รวมถึงการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมจากดำเนินการแล้วกว่า 20 ล้านต้น

 

รวมทั้งยังมีการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด เช่น การลดปริมาณของเสียจากการนำขยะไปฝังกลบ ลดขยะจากอาหารเป็นศูนย์ ด้วยการนำอาหารที่ยังรับประทานได้ไปบริจาค และเพื่อไม่ให้เกิดของเสียที่ปลายทาง จะแจกจ่ายแต่พอดี รวมถึงการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้าแบรนด์โลตัสหรือเฮ้าส์แบรนด์ เป็นวัสดุรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2566 ซึ่งขณะนี้ทำไปได้แล้วกว่า 97%

 

ทางด้านสังคม (Social) โลตัสให้ความสำคัญกับเรื่องของ Healh & Well-Being ด้วยการสนับสนุนการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของผู้บริโภค โดยตั้งเป้าผลักดันให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 70-80% ที่ใส่ใจต่อสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งโลตัสต้องการผลักดันให้ถึง 100% ภายในปี ค.ศ.2030 โดยส่วนของสินค้าแบรนด์โลตัส จะพยายามปรับให้เป็นสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาล ลดความมัน ลดแคลอรี่ เป็นต้น

 

นางสาวสลิลลา กล่าวว่า การผลักดันเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว โลตัสจะใช้กลยุทธ์ด้านราคา การจัดโปรโมชั่น และแจกคะแนนสะสม และยังใช้ช่องทางออมนิชาแนล รวมทั้งให้ความรู้ข้อมูลส่งเสริมเรื่องสุขภาพ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าสุขภาพให้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังทำเรื่อง Social Impact & Economic Contribution ซึ่งมีเป้าหมายการสร้างงาน 2 แสนตำแหน่ง ภายในปี ค.ศ.2030 นอกจากการจ้างงานปกติแล้ว ยังมีการจ้างงานผู้สูงวัย การส่งเสริมผู้พิการให้มีงานทำ รวมไปถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่ม มีช่องทางทำกินที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีการจ้างงานแล้วกว่า 119,000 ตำแหน่ง

 

ขณะที่ด้านบรรษัทภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการ (GOVERNANCE) โดย Responsible Supply Chain Management 100% ของสินค้าแบรนด์โลตัส สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 100% ของคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 1 ได้รับการทวนสอบและประเมินความเสี่ยง โลตัสจะมีระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่ ซัพพลายเออร์ทุกรายจะต้องดำเนินการตามแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มสินค้าลำดับต้นๆ ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ เช่น ประมง เสื้อผ้า ซึ่งจะมีการตรวจสอบในประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องของแรงงานที่ถูกต้อง มีการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เป็นต้น

 

 “จากเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปีค.ศ.2030 และองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปีค.ศ.2050 โลตัสจะพยายามปรับลดผ่านการดำเนินงานต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ส่วนจะต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตหรือไม่นั้น ต้องดูผลลัพธ์จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อน ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ ซึ่งทุกฝ่าย WIN WIN ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กร ลูกค้า พาร์ทเนอร์ ทุก ๆ ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ต้องได้เหมือนกัน” นางสาวสลิลลา กล่าว