เต็ดตรา แพ้ค กางแผนความยั่งยืน ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% หนุนเป้าหมาย SDGs

09 ต.ค. 2565 | 03:41 น.

เต็ดตรา แพ้ค เผยรายงานความยั่งยืนฉบับที่ 23 โชว์ความสำเร็จ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้แล้ว 38% ใช้พลังงานหมุนเวียนแล้วกว่า 80% และมีแผนต่อยอดสู่ 100% ภายในปี 2030

“ปฏิญญา ศิลสุภดล” ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากรายงานความยั่งยืนฉบับที่ 23 ซึ่งเป็นรายงานฉบับล่าสุด เต็ดตรา แพ้ค สามารถดำเนินธุรกิจปกป้องอาหาร ผู้คน และโลกได้ต่อเนื่อง โดยสามารถการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงานลง 36% เมื่อเทียบกับปีฐานในปี 2562 โดย 80% ของพลังงานที่ใช้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และยังสามารถเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นสองเท่าถึง 55 เมกะวัตต์
    

ส่วนการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ สามารถจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากพืชแทนฟอสซิล 17,600 ล้านชิ้น รวมทั้งฝาที่ผลิตจากพืชอีก 10,800 ล้านชิ้น ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 96 กิโลตัน เมื่อเทียบกับพลาสติกทำจากฟอสซิล อีกทั้งยังลงทุน 40 ล้านยูโร ร่วมกับพาร์ทเนอร์กว่า 170 รายทั่วโลก เพื่อจัดเก็บและรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มได้มากกว่า 50,000 ล้านกล่อง

ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ เต็ดตรา แพ้ค ได้ปรับโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ด้วยการ​ใช้วัสดุที่ทำจากโพลีเมอร์แทนที่ชั้นอะลูมิเนียม เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล โดยเต็ดตรา แพ้ค ถือเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายแรกของโลก ที่นำบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่สำหรับบรรจุอาหาร และยังผลิตฝาบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโพลิเมอร์รีไซเคิล
    

สำหรับการต่อยอดการดำเนินธุรกิจยั่งยืน เต็ดตรา แพ้ค ดำเนินการตามเป้าหมายการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยส่วนของการลดการใช้ทรัพยากรน้ำ ได้ร่วมมือกับ บริษัท แดรี่พลัส จำกัด จัดทำแผนงาน 3 ระยะ เพื่อลดการใช้น้ำในโรงงาน โดยเฟสแรกสามารถลดการใช้น้ำในระบบการผลิตลงได้กว่า 400 ตันต่อวัน ซึ่งปริมาณน้ำที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำเสียที่เข้าสู่โรงบำบัดลดลงจาก 75% เหลือเพียง 60% และในเฟส 2 ตั้งเป้าลดการใช้น้ำเป็น 576 ตันต่อวัน ช่วยให้กระบวนการผลิตของแดรี่พลัส สามารถรองรับการผลิตที่จะขยายเพิ่มเติมในอนาคต

ในปีนี้ เต็ดตรา แพ้ค ยังลงนามกับภาคีเครือข่ายกว่า 50 ราย ขยายความรับผิดชอบในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ของผู้ผลิต (EPR) รวมทั้งการเป็นสมาชิก Carbon Market Club เพื่อร่วมขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้ในการลดการปล่อยคาร์บอน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
    

ส่วนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ได้ร่วมกับบริษัท สยามพิวรรธน์ ตั้งจุด Drive-Thru Recycle Collection Center บริเวณห้างสยามพารากอน พร้อมกับการพัฒนาแอปพลิเคชัน BECARE รวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ซึ่งจะขยายโคงการให้ครอบคลุมใน 16 จังหวัดต่อไป
    

สําหรับโครงการด้านสังคมอื่นๆ ยังมีโครงการเพิ่มมูลค่าให้โครงการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เช่น โครงการหลังคาเขียว ที่ดำเนินการมาแล้ว 11 ปี ซึ่งยังเดินหน้าต่อ พร้อมโครงการและกิจกรรมอื่นๆ ที่ร่วมมือกับพันธมิตร ในการลดปริมาณขยะ และสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับโลก ด้วยการดำเนินงานสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะข้อที่ 6, 7, 9, 12, 13, 15 และ 17 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,824 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2565