ยื่นฟ้อง กสทช.- กกท.เอื้อประโยชน์นายทุนถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

28 พ.ย. 2565 | 06:13 น.

ตัวแทนประชาชนยื่นฟ้อง กสทช.-กกท. เอื้อประโยชน์นายทุนถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 หลัง “ทรู” ฟ้องศาลฯส่งผลให้ผู้ให้บริการกล่อง IPTV จอดำ

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565  ความคืบหน้าหลัง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ SBN บริษัท ในเครือ แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วสิ จำกัด (มหาชน) หรือ AIS  ผู้ให้บริการ AIS PLAY BOX ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (World Cup Final 2022) ผ่านโครงข่าย IPTVเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายลิขสิทธิทันที ตามที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นร้องหลังได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

 

ล่าสุดนายนภดล วงษ์วิหค ตัวแทนประชาชน มอบอำนาจให้ สำนักงานกฎหมาย สเตโต้ พับบลิค ลอว์ (Stato Public Law Firm)  โดยนายนพรัตน์ พลสิงห์ และ น.ส.กุลธิดา เกิดแก่นแก้ว เป็นทนายผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้อง ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย , การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) , คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง หมายเลขคดีดำ 2545/2565 ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษา มีมาตราการคุ้มครองและมีคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยเร่งด่วน

 

 

 

เนื่องจากการ กกท. ในฐานะผู้ซื้อและได้รับลิขสิทธิ์การแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) มาจาก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ผ่านบริษัท อินฟร้อนท์ สปอร์ต แอนด์ มีเดีย ในมูลค่า 1,300 ล้านบาท โดยเงินจำนวนครึ่งหนึ่งกล่าวคือ 600 ล้านบาท มาจากกองทุนวิจัยและพัฒนาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทปส.) ส่วนที่เหลือได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ทรู ดิจิตอล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งสนับสนุนเงินจำนวนเพียง 300 ล้านบาท

 

ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเสนอตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ซึ่งการจัดสรรเงินจากกองทุนดังกล่าวให้แก่ กกท. นำไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถรับชมรายการดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ไม่เลือกปฏิบัติ

 

กกท.

 

กกท. มีหน้าที่และพันธกิจในการส่งเสริมการกีฬา ตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 แต่หน้าที่อันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงกรณีนี้ เกิดขึ้นจากการให้ความร่วมมือตามข้อตกลง แม้ว่าการกำกับดูแลการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) จะเป็นหน้าที่โดยตรงของ กสทช. แล้ว อย่างไรก็ตาม กกท. ก็มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) เช่นเดียวกันกับ กสทช. เนื่องจาก  กกท.

 

ได้รับรองในบันทึกความร่วมมือดังกล่าวว่า การแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) นั้น จะต้องครอบคลุมการออกอากาศผ่านกิจการการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช.  ดังนั้น กสทช. จึงมีหน้าที่ในการร่วมกันกำกับการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ให้เป็นไปตามประกาศ Must Have Must Carry

ที่มาของปัญหาในครั้งนี้ คือ กกท. ทำสัญญาให้สิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์การแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) เพียงผู้เดียวกับบริษัท ทรู ดิจิตอล กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ทรู วิชั่น กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (“กลุ่มทรู”) ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสดผ่านระบบระบบไอพีทีวี (IPTV Transmission), ระบบอินเตอร์เน็ต (Internet Transmission), ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Transmission) และ ระบบอื่น ๆ ของทรูด้วย เป็นกรณีที่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้าอย่างแน่นอนว่าจะเป็นการปิดกั้นในบางช่องทางการการแพร่เสียงแพร่ภาพ และสามารถดูได้จากช่องทางการการแพร่เสียงแพร่ภาพของกลุ่มทรูเท่านั้น ซึ่งเป็นกรณีขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศ Must Have Must Carry อันจะมุ่งหมายให้ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าถึงการรับชมการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ได้อย่างทั่วถึงและทุกช่องทาง โดย กกท. ไม่กระทำการใดอันเป็นการระงับการให้ลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวดังกล่าวต่อกลุ่มทรู และ กสทช. ก็มิได้กระทำการใดอันเป็นการห้ามมิให้ กกท. เข้าทำสัญญากับกลุ่มทรูในข้อดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมด จึงเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดสรรลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และ ไม่เลือกปฏิบัติ

การละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีดังที่กล่าวมาข้างต้น ก่อให้เกิดปัญหาอย่างเห็นได้ชัด โดยประชาชนจำนวนเกือบ 1 ล้านคนที่มีกล่อง IPTV รับสัญญาณจากผู้ให้บริการอื่นอยู่แล้ว เช่น AIS Play Box, GMM Z, PSI,MVTV,DTV และอื่น ๆ ไม่สามารถเข้ารับชมการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ได้อย่างทั่วถึง อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศ Must Have Must Carry ที่ กสทช. กำหนด ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนเกินสมควร ในการรับชมรายการถ่ายทอดสดดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในการซื้อกล่องรับสัญญาณทรู หรือ การติดตั้งเสาสัญญาณ (หนวดกุ้ง) เพิ่มเติม หรือหากมีการติดตั้งเสาสัญญาณอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ของทรูจะส่งผลให้การรับชมไม่เสถียร

 

ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงขอความเมตตาจากศาลปกครองกลางขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาโดยเร่งด่วน กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และขอให้ศาลมีคำขอและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวโดยเร่งด่วน เพื่อลดการผลักภาระให้กับประชาชนตามหลักการ Must Have, Must Carry ที่ระบุไว้ชัดเจนแล้ว.