นักวิชาการด้านสื่อ ค้านนำเงินกองทุน กทปส.1.6พันล. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายบอลโลก

08 พ.ย. 2565 | 05:25 น.

คณะนิเทศ จุฬา-วารสารฯ ม.ธ. และนักวิชาการสื่อ ตั้งโต๊ะออกแถลงการณ์ รุมต้าน กสทช. นำเงินกองทุน กทปส. 1.6 พันล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอลโลก ระบุขัดวัตถุประสงค์กองทุน หวั่นกระทบโครงการวิจัยและพัฒนาโทรคมนาคม เรียกร้องชี้แจงถึงสถานะทางการเงินล่าสุดของกองทุน กทปส.

รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แถลงการณ์คัดค้านการนำเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)  ไปใช้สนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022  มูลค่าประมาณ  42 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือ ประมาณ 1,600 ล้านบาท    จากการขออนุเคราะห์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย   โดยให้เหตุผลมุ่งเน้นว่าการใช้เงินดังกล่าวอาจขัดวัตถุประสงค์กองทุน พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการ กสทช. และ กรรมการ กทปส. เปิดเผยสถานะกองทุนและพิจารณาวาระดังกล่าวอย่างโปร่งใสเป็นธรรม

นักวิชาการด้านสื่อ ค้านนำเงินกองทุน กทปส.1.6พันล. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายบอลโลก

โดยคณะนิเทศศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ตลอดจนนักวิชาการด้านสื่อ ขอคัดค้านการอนุมัติเงินดังกล่าว ด้วยเหตุผล 6 ประเด็น ได้แก่

 

1.หากพิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 นั่นหมายถึง การนำเงินจากบัญชีของ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ การเข้าถึงบริการกระจายเสียง บริการโทรทัศน์ บริการโทรคมนาคมสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคม การพัฒนาบุคลากรและองค์กรวิชาชีพ ตลอดจนสนับสนุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

2.แหล่งของเงินที่ กสทช. จะนำมาใช้ในกรณีนี้ได้ คือ เงินจากบัญชีที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ นั่นคือ บัญชีที่ 1 และบัญชีที่ 2 ของกองทุน กทปส.

 

3.บัญชีที่ 1 ของกองทุน กทปส. เป็นบัญชีหลักของกองทุน กทปส. ที่ต้องสนองตอบวัตถุประสงค์ของกองทุนทุกข้อ ส่วนบัญชีที่ 2 เป็นเงินสำหรับแผนงาน USO (Universal Service Obligation) มีวัตถุประสงค์หลักคือการสนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคมได้เข้าถึงบริการ ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึงและเสมอภาค

4.ที่ผ่านมา กสทช. เคยให้การสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส. จำนวน 240 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้การกีฬาแห่งประเทศไทยซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการกีฬาโอลิมปิก จำนวน 5 รายการ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดู ร้อน 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว 2020 ณ เมืองโลซาน สมาพันธ์รัฐสวิส การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชน ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล และเอเชียนเกมส์ 2022 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้เหตุผลและหลักการสนับสนุนว่าเป็นรายการที่มีความหลากหลายของชนิดกีฬา และมีหลายชนิดกีฬาที่ คนไทยเข้าร่วมแข่งขัน เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ได้

 

5.กรณีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่แม้จะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกระจายเสียง และโทรทัศน์ ที่มุ่งหมายให้ประชาชนคนไทยได้รับชมรายการกีฬาฟุตบอล แต่ก็เป็นประเภทกีฬาเฉพาะกลุ่มที่มีคนไทยให้ความสนใจจำนวนกลุ่มหนึ่ง และคนไทยไม่ได้มีส่วนร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้ด้วย จึงมิได้มีลักษณะที่เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ที่จะต้องสร้างและพัฒนาทรัพยากร สื่อสารให้เกิดประโยชน์สาธารณะ สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่าง ทั่วถึงของประชาชนคนไทยในทุกกลุ่ม นับเป็นการสูญเสียเงินจำนวนมากที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไปกับการ ถ่ายทอดสดเฉพาะฟุตบอลโลก 2022 ในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น

 

6.ในเว็บไซต์ของกองทุน กทปส. ได้เผยแพร่มติที่ประชุมคณะกรรมการบริการกองทุน กทปส. ครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 (ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ และหลังจากนั้นในเว็บไซต์ไม่ได้มีการเผยแพร่มติที่ประชุมอีก) ได้ระบุสถานะเงินคงเหลือของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 (รวม เงินประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลและเงินทั่วไป) คงเหลือ 3,435.07 ล้านบาท ส่วนบัญชีที่ 2 คงเหลือ 504.27 ล้านบาท

 

ในขณะที่ข้อมูลการรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555 ระบุข้อมูลจากแหล่งข่าวใน กสทช. ว่าปัจจุบันสถานะเงินคงเหลือของกองทุน กทปส. ที่สามารถนำมาใช้กับกรณีนี้ได้ คงเหลือประมาณ 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่างบประมาณในกองทุน กทปส.ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการ โทรทัศน์ที่คงเหลืออยู่ไม่ใช่งบประมาณที่มีอยู่มาก ในขณะที่ปัจจุบันยังมีประชาชนจำนวนมาก

 

โดยเฉพาะเด็ก ผู้ พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคมที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการกระจายเสียงและ บริการโทรทัศน์ได้ ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนจำนวนและคุณภาพของสื่อกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์สำหรับ เด็กซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงของสังคมอย่างแท้จริง

 

ดังนั้น การพิจารณานำเงินจากกองทุน กทปส. ซึ่งเป็นเงินส่วนกลางเพื่อประโยชน์สาธารณะไปใช้สนับสนุนการ ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะกระทบ ต่อสภาพคล่องของเงินทุน ส่งผลกระทบสำคัญต่อโอกาสในการเข้าถึงบริการของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของคนไทยในวงกว้าง เกิดการหยุดชะงักของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารของประเทศ และจะส่งผล กระทบอย่างต่อเนื่องต่อการขาดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของคนไทยทั้งประเทศในภาพรวมได้

 

ดังนั้น คณาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนนักวิชาการด้านสื่อตามรายชื่อที่ได้ลงนามตามประกาศนี้จึงขอคัดค้านการนำเงินจากกองทุน กทปส. ไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 และเสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณาหาแนวทางความร่วมมืออื่นที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ

 

พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการ กสทช. และ กทปส. ชี้แจงถึงสถานะทางการเงิน ล่าสุดของกองทุน กทปส. รวมทั้งพิจารณาวาระนี้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม คำนึงถึงการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ เพื่อหาทางออกของปัญหานี้โดยไม่กระทบต่อสาธารณะ และเป็นตัวแทนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงบริการกระจาย เสียงและบริการโทรทัศน์ของภาคประชาชนวงกว้างเป็นสำคัญ

 

ผู้ร่วมลงนามแถลงการณ์

คณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม        มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ผศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ        มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ผศ.นันทสิทธิ์ กิตติวรากูล        คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์        คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รศ.มาลีย์ บุญศิริพันธ์        นักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระ

ผศ.จิรภัทร กิตติวรากูล        คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ

อ.นรากร อมรฉัตร            วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

วีรวัฒน์ อำพันสุข            วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

วรรณรัตน์ นาที            มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์        นักวิชาการอิสระด้านสื่อและการสื่อสาร

รศ.ดร.มนวิภา วงรุจิระ        มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ศักดิ์ชัย เอี่ยมกระสินธุ์        มหาวิทยาลัยมหิดล

ผศ.ดร.ณรงค์ ขำวิจิตร์        อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.อดิพล​ เอื้อจรัส​พันธุ์​        วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์​

โสภิต หวังวิวัฒนา            ไทยพีบีเอส

ผศ.คอลิด มิดำ            คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา

ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ        คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา

พระสมชาย ชวลิตเนตร        โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง

พระพงศ์วรพัฒน์ จันโทศรี        วัดไตรภูมิ

นราวิชญ์ พรหมณา            ช่างภาพอิสระ

นางสาวกฤติยา วรศรี        โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย

ดวงแข บัวประโคน            บจก.แมวขยันดี

โชตะ ฟูจิตะ            โรงพยาบาลห้วยเม็ก