ต้านซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ! นิเทศจุฬาฯ ยกเหตุขัดหลักการ"กองทุน กทปส."

08 พ.ย. 2565 | 02:09 น.

นิเทศจุฬาฯ ค้านสุดตัว ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด "ฟุตบอลโลก 2022" ยกเหตุผลละเอียดยิบ หาก กสทช. ใช้เงิน 1,600 ล้านบาทจริง ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน "กทปส" เตรียมนัดแถลงข่าวด่วนวันนี้ ( 8 พ.ย.65 )

 

8 พฤศจิกายน 2565 ความคืบหน้าจากกรณีที่ การกีฬาแห่งประเทศไทยทำหนังสือแจ้งให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ "กสทช." พิจารณาสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรวมภาษีมูลค่า 42 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท ซึ่งกำหนดจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ วันที่ 9 พ.ย.2565 

 

ล่าสุดบุคลากรคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกมาคัดค้านเรื่องนี้

 

คณาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนนักวิชาการสื่อ ได้รวบรวมรายชื่อ พร้อมออกแถลงการณ์ คัดค้าน กสทช. ในการอนุมัติเงินซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก โดยยกเหตุผลดังต่อไปนี้..

 

 

1.หาก กสทช.พิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 นั่นหมายถึง การนำเงินจากบัญชีของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสารการวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะการเข้าถึงบริการกระจายเสียง บริการโทรทัศน์ บริการโทรคมนาคมสำหรับผู้พิการผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคม การพัฒนาบุคลากรและองค์กรวิชาชีพตลอดจนสนับสนุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

2. แหล่งของเงินที่ กสทช.จะนำมาใช้ในกรณีนี้ได้คือ เงินจากบัญชีที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์นั่นคือ บัญชีที่ 1 และบัญชีที่ 2 ของกองทุนกทปส.

 

3. บัญชีที่ 1 ของกองทุนกทปส. เป็นบัญชีหลักของกองทุน กทปส. ที่ต้องสนองตอบวัตถุประสงค์ของกองทุนทุกข้อ ส่วนบัญชีที่ 2 เป็นเงินสำหรับแผนงาน USO (Universal Service Obligation) มีวัตถุประสงค์หลักคือการสนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคมได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง


4. ที่ผ่านมา กสทช. เคยให้การสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส.จำนวน 240 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้การกีฬาแห่งประเทศไทยซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการกีฬาโอลิมปิกจำนวน 5 รายการ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว 2020 ณ เมืองโลซาน สมาพันธ์รัฐสวิส, การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน, การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน 2022 ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล และเอเชียนเกมส์ 2022 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้เหตุผลและหลักการสนับสนุนว่าเป็นรายการที่มีความหลากหลายของชนิดกีฬาและมีหลายชนิดกีฬาที่คนไทยเข้าร่วมแข่งขัน เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ได้

 

5. กรณีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่แม้จะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกระจายเสียงและโทรทัศน์ที่มุ่งหมายให้ประชาชนคนไทยได้รับชมรายการกีฬาฟุตบอล  แต่ก็เป็นประเภทกีฬาเฉพาะกลุ่มที่มีคนไทยให้ความสนใจจำนวนกลุ่มหนึ่ง และคนไทยไม่ได้มีส่วนร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้ด้วย  จึงมิได้มีลักษณะที่เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ที่จะต้องสร้างและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารให้เกิดประโยชน์สาธารณะ สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึงของประชาชนคนไทยในทุกกลุ่มนับเป็นการสูญเสียเงินจำนวนมากที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไปกับการถ่ายทอดสดเฉพาะฟุตบอลโลก2022 ในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น

 

6. ในเว็บไซต์ของกองทุน กทปส. ได้เผยแพร่มติที่ประชุมคณะกรรมการบริการกองทุนกทปส. ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 (ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ และหลังจากนั้น ในเว็บไซต์ ไม่ได้มีการเผยแพร่รายงานการประชุมอีก)ได้ระบุสถานะเงินคงเหลือของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 (รวมเงินประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลและเงินทั่วไป) คงเหลือ 3,435.07 ล้านบาท ส่วนบัญชีที่ 2 คงเหลือ 804.27 ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลการรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ระบุข้อมูลจากแหล่งข่าวในกสทช.ว่า ปัจจุบัน สถานะเงินคงเหลือของกองทุน กทปส. ที่สามารถนำมาใช้กับกรณีนี้ได้คงเหลือประมาณ 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่างบประมาณในกองทุน กทปส. ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่คงเหลืออยู่ไม่ใช่งบประมาณที่มีอยู่มาก

 

ในขณะที่ปัจจุบันยังมีประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคมที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์ได้ ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนจำนวนและคุณภาพของสื่อกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์สำหรับเด็กซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงของสังคมอย่างแท้จริง

 

ดังนั้น การพิจารณานำเงินจากกองทุน กทปส.ซึ่งเป็นเงินส่วนกลางเพื่อประโยชน์สาธารณะไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะกระทบต่อสภาพคล่องของเงินทุนส่งผลกระทบสำคัญต่อโอกาสในการเข้าถึงบริการของกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของคนไทยในวงกว้าง เกิดการหยุดชะงักของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารของประเทศ และจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการขาดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของคนไทยทั้งประเทศในภาพรวมได้

 

คณาจารย์จาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านสื่อตามรายชื่อด้านล่างจึงขอคัดค้านการนำเงินจากกองทุน กทปส. ไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 และเสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณาหาแนวทางความร่วมมืออื่นที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะพร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการ กสทช. และ กทปส. ชี้แจงถึงสถานะทางการเงินล่าสุดของกองทุนกทปส. รวมทั้งพิจารณาวาระนี้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม คำนึงถึงการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ เพื่อหาทางออกของปัญหานี้โดยไม่กระทบต่อสาธารณะ และเป็นตัวแทนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์ของภาคประชาชนวงกว้างเป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ คณาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านสื่อ ได้ส่งจดหมายเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวคัดค้านการนำเงินกองทุนกทปส. ไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้