บี.กริม เพาเวอร์ ปลื้มโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม กัมพูชา 39 เมกะวัตต์ คว้ารางวัลโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มยอดเยี่ยม

11 ต.ค. 2564 | 09:03 น.

International Finance Award - IFA 2021: Best New Solar PV Project, Cambodia ตอกย้ำผู้นำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของภูมิภาคอาเซียน

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) ดำเนินการโดยบริษัท เรย์ เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด – Ray Power Supply Co., Ltd. (บริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ 1 จำกัด ถือหุ้น 100%) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองศรีโสภณ จังหวัดบันทายมีชัย (หรือ บ็อนเตียย์เมียนเจ็ย) ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 39 เมกะวัตต์ ล่าสุดได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลระดับนานาชาติ Best New Solar PV Project, Cambodia ประจำปี 2021 (2654) ในสาขา Utility / Energy อันทรงเกียรติ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคและพลังงาน  โดยนิตยสารธุรกิจและการเงินชั้นนำ “International Finance” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รางวัลแก่บริษัทที่ดำเนินงานด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  โดยในปีที่ผ่านมา บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นบริษัทเอกชนจากประเทศไทยเพียงรายเดียว ที่สามารถดำเนินการพัฒนาโครงการพลังงานอันสำคัญในประเทศกัมพูชาได้เป็นผลสำเร็จ และได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำการยอมรับประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติต่อ BGRIM มาอย่างต่อเนื่อง นับจากการได้รับรางวัล Best Power Plant Project Developer – Solar ประจำปี 2019 (2562) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 257 เมกะวัตต์ Phu Yen TTP ประเทศเวียดนาม มาแล้วก่อนหน้า

บี.กริม เพาเวอร์ ปลื้มโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม กัมพูชา 39 เมกะวัตต์ คว้ารางวัลโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มยอดเยี่ยม

ดร.ฮาราลด์ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) Ray Power Supply Co., Ltd. ณ ประเทศกัมพูชา ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามแผนการลงทุนและกำหนดระยะเวลาที่วางไว้ แม้ว่าในปีที่ผ่านมา บริษัทจะต้องบริหารโครงการท่ามกลางปัญหาและข้อจำกัดมากมายทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และอุทกภัยที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก่อสร้างตลอดช่วงปี 2563 โดยการได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอีกครั้งนี้ ถือเป็นเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจ และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า บี.กริม เพาเวอร์ คือ หนึ่งในผู้นำที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญสูงสุดในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และวันนี้บริษัทจึงมีความพร้อมอย่างยิ่งในการขยายฐานกำลังการผลิตไฟฟ้า ให้ครอบคลุมไปยังหน่วย งานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ได้อย่างกว้างขวางและมีคุณภาพมากที่สุดด้วย

ทั้งนี้ การขยายธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของ บี.กริม เพาเวอร์ เป็นการส่งเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้นไปพร้อมกับการสร้างความสมดุลย์ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว ตามวิสัยทัศน์ของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อ “สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี” (Empowering the World Compassionately)

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) ประเทศกัมพูชา กำลังการผลิตติดตั้ง 39 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท เรย์ เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (บริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ 1 จำกัด ถือหุ้น 100%) เป็นผู้ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 20 ปี กับการไฟฟ้าประเทศกัมพูชา (Electricite Du Cambodge – EDC) ซึ่งได้ดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิย์ (COD) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นบริษัทไทยรายแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถสร้างโครงการโรงไฟฟ้า Solar Farm ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งได้รับการค้ำประกันสัญญาจากรัฐบาลประเทศกัมพูชาได้เป็นผลสำเร็จ 

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ณ ปี 2564 รวม 50 โครงการ จำนวนกำลังผลิตรวม 3,058 เมกะวัตต์  โดยบริษัทตั้งเป้าการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวน 7,200 เมกะวัตต์ในปี 2568 และเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องต่อไปเป็น 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ด้วยเป้าหมายรายได้กว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อทำให้ บี.กริม เพาเวอร์คงการเป็นผู้นำด้านบริษัทผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชั้นนำของโลก พร้อมกับการกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่สำคัญ คือ การก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ได้ภายในปี ค.ศ. 2050