TIJ เปิดตัวงานวิจัย “ยุติธรรมสมานฉันท์” ปิดจุดอ่อน - เสริมจุดแข็งยุติธรรมอาญาไทย

08 ต.ค. 2564 | 02:54 น.

ในยุคที่สังคมไทยมีความซับซ้อนและเหลื่อมล้ำมากขึ้น ความขัดแย้งในมิติต่าง ๆ ปรากฏแทบทุกหย่อมหญ้า

การยุติปัญหาโดยใช้กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักเพียงด้านเดียว ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา โดยเฉพาะปัญหา “คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก” 

เหตุนี้เอง “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” จึงถูกพูดถึงและได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายมากขึ้น ซึ่งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ (Thailand Institute of Justice) ได้ขับเคลื่อนและพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องนี้มานานหลายปี 

ขณะที่กระทรวงยุติธรรมเองก็ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในยุคที่ ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นผู้บริหารกระทรวง ได้บุกเบิกเส้นทางสายยุติธรรมสมานฉันท์มากว่า 2 ทศวรรษ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยการ TIJ กระทั่งปัจจุบันซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของสถาบันฯ

TIJ เปิดตัวงานวิจัย “ยุติธรรมสมานฉันท์” ปิดจุดอ่อน - เสริมจุดแข็งยุติธรรมอาญาไทย

วันนี้ ปรัชญาของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง กล่าวคือ การที่คู่กรณี ผู้เสียหาย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตกลงกันเพื่อหาทางออกของความขัดแย้งหรือกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น โดยทางออกนั้นนำไปสู่การสำนึกผิด ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน เยียวยาชดใช้เพื่อให้เกิดการให้อภัย และการเริ่มต้นใหม่ที่จะนำไปสู่
ความสมานฉันท์ ทั้งเหยื่อ ผู้กระทำผิด และชุมชน โดยใช้ “พลังของชุมชน” มาร่วมในการจัดการ

กระบวนการนี้ ถือว่าสอดคล้องกับ “รากเหง้าในสังคมไทย” ที่มีระบบ “ผู้นำทางธรรมชาติ” ในชุมชน ซึ่ง ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ มองว่า หากนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้อย่างเหมาะสม จะช่วยแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทยได้มากขึ้น 

แต่การจะไปสู่จุดนั้นได้ ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และปรับมุมมองเรื่องโทษทางอาญาที่เน้นการแก้แค้นทดแทน ไปสู่กระบวนการที่เน้นความสมานฉันท์ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า 

จะเห็นได้ว่าจากการขับเคลื่อนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องหลายปี ทั้งของกระทรวงยุติธรรม และ TIJ ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นที่รู้จักและเข้าใจในวงกว้าง 

ฉะนั้นความท้าทายนับจากนี้ จึงอยู่ที่การนำองค์ความรู้ไปแปรเป็นภาคปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการนำไปใช้ในหลายมิติ หลายส่วนงาน มีการลองผิดลองถูก สรุปบทเรียน และทำวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มเติมเป็นระยะ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ TIJ เพิ่งจัดงานเสวนาออนไลน์ เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: ความเป็นมา

และความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย” เพื่อเปิดตัวรายงานวิจัย “Harmonious Justice: Thailand’ s Approach to Restorative Justice” และ “คู่มือสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) ฉบับแปลภาษาไทย

หลากหลายตัวอย่างที่วิทยากรได้หยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงคุณูปการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และข้อสังเกตที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญในการพัฒนาต่อยอด

TIJ เปิดตัวงานวิจัย “ยุติธรรมสมานฉันท์” ปิดจุดอ่อน - เสริมจุดแข็งยุติธรรมอาญาไทย

เช่น ตัวอย่างจาก นายอติรุจ ตันบุญเจริญ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดชลบุรี ที่ทำให้เห็นประเด็นว่า “การเยียวยา บางครั้งก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเงิน” 

“...มีคดีทำร้ายร่างกายคดีหนึ่งเกิดขึ้นที่ จ.ศรีสะเกษ ผู้เสียหายเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข มีหน้าที่เฝ้าโรงพยาบาลในท้องถิ่น ถูกกลุ่มวัยรุ่นที่เข้าไปใช้ห้องน้ำในโรงพยาบาลรุมทำร้าย ก่อนจะรู้ภายหลังว่าเกิดจากความเข้าใจผิด 

จึงมีการไกล่เกลี่ย โดยครอบครัวของกลุ่มวัยรุ่นประสานผู้นำชุมชนเข้าขอขมาต่อผู้เสียหาย และชดใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท ในขณะที่วัยรุ่นผู้ก่อเหตุกำลังก้มลงกราบ ปรากฎว่าผู้เสียหาย ค่อยๆ มาจูงมือวัยรุ่นคนนี้ไปหาแม่ของเขาเอง เพื่อนำเงิน 20,000 บาทไปคืน...”

TIJ เปิดตัวงานวิจัย “ยุติธรรมสมานฉันท์” ปิดจุดอ่อน - เสริมจุดแข็งยุติธรรมอาญาไทย

นายอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้วิจัยหลักและผู้จัดการโครงการของ TIJ วิเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัย ซึ่งสอดคล้องกับตัวอย่างที่ยกมานี้ว่า กระบวนการเยียวยามีส่วนสำคัญอย่างมากในกระบวนการยุติธรรมที่มองผู้เสียหาย

เป็นศูนย์กลาง เพราะจะทำให้เกิดการฟื้นคืนความสัมพันธ์ของคู่กรณีและความสมานฉันท์ในสังคมได้ 

TIJ เปิดตัวงานวิจัย “ยุติธรรมสมานฉันท์” ปิดจุดอ่อน - เสริมจุดแข็งยุติธรรมอาญาไทย

มีอีกหนึ่งตัวอย่างจาก นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ชี้ให้เห็นว่าคดีบางประเภท กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก อาจไปไม่ถึงในแง่ของการอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคดีที่กระทำความผิดไปโดยไม่ได้ตั้งใจ 

“...มีคุณลุงร่วมกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้านไปกู้เงินจาก อบต. ตามนโยบายของรัฐ เพื่อมาดำเนินกิจกรรมในชุมชน แต่เมื่อได้เงินมาแล้ว กลับไม่สามารถทำกิจกรรมตามที่ตั้งใจไว้ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบในชุมชน ทำให้ อบต. ต้องฟ้องเรียกร้องเอาเงินคืน ผ่านมากว่า 10 ปี คุณลุงกับเพื่อนๆ ไม่ได้คุยกันอีก ทำให้จำเลยที่เคยสัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายร่วมกันไม่ได้ชดใช้ ศาลจึงเรียกทุกคนมาไกล่เกลี่ยตามกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ 

ได้คุยและตกลงกัน ได้ผลสรุปว่า คนในชุมชนจะช่วยคุณลุงผ่อนจ่ายตามกำลังที่มีในแต่ละเดือน ทำให้คุณลุงกลับมามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้านอีกครั้ง...”

ตัวอย่างนี้สอดคล้องกับผลวิจัยของ TIJ ซึ่งลงพื้นที่เก็บข้อมูลในหลายจังหวัดประเทศ พบว่า หัวใจหลักของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือชุมชนต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนไปพร้อมกับกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จึงเป็นส่วนเติมเต็มในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย 

TIJ เปิดตัวงานวิจัย “ยุติธรรมสมานฉันท์” ปิดจุดอ่อน - เสริมจุดแข็งยุติธรรมอาญาไทย

ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ ย้ำทิ้งท้ายว่า หัวใจของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือ การร่วมมือกันของทุกฝ่าย และเน้นผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นกระบวนการที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ โดยอาศัยการมีส่วนร่วม และสร้างความเข้าใจร่วมกับชุมชน 

แม้ว่าปัจจุบันยังมีความท้าทายที่กระบวนการยุติธรรมเผชิญอยู่ แต่รายงานวิจัย Harmonious Justice: Thailand’s Approach to Restorative Justice” และ “คู่มือสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (ปรับปรุงครั้งที่ 2) ฉบับแปลภาษาไทย” ที่คณะผู้วิจัย TIJ ได้ศึกษาวิจัยและเรียบเรียงขึ้นมา จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมนำไปปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

รวมถึงช่วยทำให้สามารถเยียวยา แก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ที่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักของไทยกำลังเผชิญอยู่ เพื่ออำนวยความยุติธรรมสูงสุดให้กับประชาชน และคืนความปรองดองสมานฉันท์สู่ชุมชน

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานวิจัยฯ และ คู่มือสหประชาชาติฯ (ฉบับภาษาไทย) ได้ที่ 

https://knowledge.tijthailand.org/en/publication/detail/harmonious-justice-thailand-s-approach-to-restorative-justice#book/ และ
https://knowledge.tijthailand.org/th/publication/detail/handbook-rj-programmes-2edition#book/