สภาหอการค้าฯ เสนอคลัง 3 ข้อ ปรับแก้ เก็บ 'ภาษีที่ดิน'

21 ก.ย. 2565 | 03:11 น.

การเรียกเก็บ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 ในอัตราเต็ม 100% ไม่มีลดหย่อน ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างเป็นวงกว้าง ทั้งในหมู่ประชาชน ,เอกชน ,เจ้าของกิจการ และ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

21 ก.ย.2565 - การเรียกเก็บ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 ในอัตราเต็ม 100% ไม่มีลดหย่อน ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างเป็นวงกว้าง ทั้งในหมู่ประชาชน ,เอกชน ,เจ้าของกิจการ และ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จากสต็อกโครงการที่อยู่อาศัยเหลือขาย และ ที่ดินว่างเปล่า ที่ถือครองในมือจำนวนมากมาก ยังเป็นประเด็นที่น่าห่วงใยสำหรับภาคครัวเรือน และ ทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นับหลังจากนี้ ซ้ำเติมภาระต้นทุน ที่งอกเงยตามอัตราดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ

 

'ฐานเศรษฐกิจ' เจาะมุมมอง นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การริเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้าง ปี 2565  แบบเต็มอัตราเป็นปีแรก หลังจาก ผ่านพ้นมาตรการลดหย่อน 90% แล้วนั้น ยังคงสร้างภาระความเดือดร้อน ท่ามกลางการปรับตัวไม่ทันของภาคครัวเรือน และเอกชนอยู่มาก เกิดภาพการค้างชำระจ่ายภาษี ในหลายพื้นที่ 

เบี้ยปรับภาษีที่ดินโหด 40% เสนอ ชะลอจัดเก็บ 

ประเมินการค้างชำระภาษีในภาคครัวเรือน เกิดขึ้นจากหลายกรณี โดยเฉพาะ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอน และ อัตราภาษี ภายใต้ การจ่ายล้าช้า จะถูกเบี้ยปรับถึง 40% ซึ่งล่าสุด สภาหอการค้าฯ ได้หารือ ผ่าน คณกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ทำหนังสือท้วงไปยังรัฐบาลแล้ว เพื่อต้องการให้ยกเว้นเบี้ยปรับข้างต้นไปก่อน เนื่องจาก จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาระเงินเพิ่มในฝั่งผู้เสียภาษี ก่อนเสนอให้ในระยะต่อไป 3 ปีแรก เฉลี่ยเรียกเบี้ยปรับเป็นขั้นบันไดแทน เช่น 25% ,50% และ 100%  เนื่องจาก เห็นว่า ขณะนี้ภาคครัวเรือน และ ธุรกิจ ยังไม่ได้มีการฟื้นตัวอย่างเต็มที ท่ามกลางเศรษฐกิจภาพรวมมีอัตราการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป 

โรงแรมฟื้นช้า ภาษีทีาดินซัดซ้ำ 

นายอิสระ ยังระบุว่า ขณะนี้ ในฝั่งของเอกชน ผู้ประกอบการในภาคอสังหาฯ หลายส่วน ยังประสบปัญหา หนักหน่วงฟื้นตัวช้าสุด คือ ภาคโรงแรม เนื่องจาก เดิมที ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อปี เกือบ 40 ล้านคน โดยช่วงรอยต่อปี 2562 พบโรงแรมหลายแห่ง มีการปรับแต่ง ลงทุน ขยายกิจการเพิ่ม เพื่อรองรับแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ แต่ภายหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลไม่สามารถเปิดกิจการได้ แม้ปีนี้ ททท.วางเป้านักท่องเทียวต่างชาติ จะกลับมาแตะ 10 ล้านคน แต่ก็ยังห่างไกลจาก 40 ล้านคนในอดีตนัก ฉะนั้น รายได้ต่อต้นทุน ยังไม่สมดุลกัน

 

ขณะเดียวกัน ภาพการฟื้นตัวของโรงแรม ในระยะแรก น่าจะกระจุกตัวแค่ในกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ และในหัวเมืองสำคัญก่อนเท่านั้น ทั้งนี้ ก็ยังอยู่ในภาวะ ขาดทุน เป็นหลักไม่ได้มีกำไร ส่วนโรงแรมขนาดกลาง และ ขนาดเล็ก ประสบปัญหาอย่างหนัก เช่น ภูเก็ต สงขลา โคราชฯ  พบผู้ประกอบการกำลังร้อนใจเรื่อง ภาษีที่ดินฯ เนื่องจาก บางส่วนยังปิดกิจการอยู่ แต่เจอใบเรียกเก็บภาษีจากท้องถิ่น

 

จ่อเสนอคลัง แก้ตีความภาษีที่อยู่อาศัย 

ส่วนในกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่อาศัย ซึ่งมีทั้งกลุ่มถือครองที่ดินเปล่ารอการพัฒนา และ แบกสต็อกเหลือขายจำนวนมาก น่าห่วงใยไม่แพ้กัน แต่น้อยกว่าในภาคโรงแรม เนื่องจาก ตามกฎหมาย ยังมีเงื่อนไขยกเว้นระยะ 3 ปีแรก หลังการขออนุญาตจัดสรร หรือ อาคารชุด ที่อยู่ในระยะก่อสร้าง 3 ปี ก็ได้รับการลดหย่อนตามกฎหมายถึง 90% แต่สิ่งที่จะต้องวางแผนกัน คือ หลังจากหมดระยะลดหย่อน 3 ปีไปแล้วนั้น จะสามารถแบกต้นทุนไหวกันหรือไม่ จาก ล้านละ 200 บาท เป็น 3,000 บาท หรือ เพิ่มขึ้นมาถึง 15 เท่า
 

ทั้งนี้ สภาหอการค้าฯ กำลังพิจารณา เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลัง ปรับแก้ข้อกฎหมายการตีความบางประการ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัย ให้พิจารณาเป็น 'ที่อยู่อาศัย' ไม่ใช่คิดตามอัตรา 'ประเภทอื่นๆ' ซึ่งมีอัตราการจ่ายขั้นต้นสูงถึง ล้านละ 3,000 บาท เนื่องจากเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย มิได้มีไว้เพื่อประกอบกิจการ เพราะท้ายที่สุด ต้นทุนที่งอกเพิ่มขึ้นมา อาจถูกไปยังผู้บริโภค หรือ ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย
 

" ต้องยอมรับว่า ตามข้อเท็จจริง ไม่มีผู้ประกอบการไหน ยอมแบกรับต้นทุนให้ไปนานๆ ท้ายที่สุด ก็จะผลักออกเป็น ราคาขายบ้าน-คอนโดฯ ในรูปแบบต่างๆ"
 

วอนรัฐเปลี่ยนเก็บภาษี 'พื้นที่ส่วนกลาง' บ้านจัดสรร-คอนโด 

อีกกรณี ที่อาจขอให้รัฐพิจารณาปรับแก้ คือ การเรียกเก็บภาษี จากบริการสาธารณะในโครงการจัดสรรฯ หรือ พื้นที่ส่วนกลาง เช่น สโมสรสระว่ายน้า คลับเฮ้าส์ ฯลฯ รวมถึง บริการสาธารณะที่ใช่ร่วมกันอื่นๆ  เนื่องจาก นายอิสระ เห็นว่า ทรัพย์สินเหล่านี้ ในความเป็นจริง ไม่ได้สร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการหรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร แต่มีเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยร่วมกัน โดยขอให้พิจารณา และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บสาธารณูปโภค อาทิ ซุ้มโครงการ อาคารนิติบุคคลฯ มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นประเภทอื่นๆและขอให้พิจารณาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่ส่วนกลาง เป็นประเภทที่อยู่อาศัยแทน