TOP 5 'อสังหาฯไทย' เอาชนะต้นทุน โกยกำไรครึ่งปีสูงสุด

17 ส.ค. 2565 | 03:04 น.

เปิด TOP5 บริษัทอสังหาฯไทย เอาชนะต้นทุน ปัจจัยป่วนเศรษฐกิจ และ กำลังซื้อ ครึ่งปีแรก 2565 พบ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ยังยืนหนึ่ง โกยกำไรสูงสุด ทะลุ 4 พันล้านบาท รองลงมา เอพี ,ศุภาลัย ,ออริจิ้น และ แสนสิริ

17 สิงหาคม 2565 - ปัจจัยลบ ที่มีมากกว่า ปัจจัยบวก ในช่วงเวลาท้าทายของเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 ปี 2565 (เม.ย.-มิ.ย.) ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลข จีดีพี ขยายตัวเพียง 2.5% ขยับตัวดีขึ้นมาเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า คือ ภาพฉายการดิ้นรนของผู้ประกอบการ ในหลายธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึง ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยด้วย

 

ซึ่งภาพใหญ่ เศรษฐกิจไทย เจอทั้งความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ,ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ,ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 และ ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ 

  • ใต้เสี่ยงอสังหาต้นทุนพุ่ง


ขณะอสังหาฯ เผชิญผลพ่วงทางอ้อมรอบทิศ โดยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูง จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเกือบ 40% และ ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผ่าน ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ที่แพงขึ้นอย่างน่าใจหาย เจาะราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นถึง 35% จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แหล่งผลิตใหญ่ของโลกเกิดวิกฤติ  ทั้งนี้ เมื่อจำแนก ต้นทุน การก่อสร้างโครงการที่พักอาศัยในหมวดต่างๆ เช่น งานวิศวกรรม ,งานสถาปัตยกรรม ,ระบบไฟฟ้า-สื่อสาร และ สุขาภิบาล ก็มีการปรับขึ้นยกแผง ถือเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดผู้ประกอบการในช่วงฟื้นตัวหลังโควิด หลังฟากลูกค้า ก็ยังถูกธนาคารปฎิเสธสินเชื่อ (รีเจ็กต์)ไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ได้ในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในกลุ่ม Listed Companies หรือ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่จับสัญญาณ ปรับกลยุทธ์ และตั้งหลัก ลดความเสี่ยงของตลาดได้ในทุกๆแง่มาก่อนแล้วอย่างดี ประกอบกับ ลูกค้ายิ่งให้ความเชื่อมั่นต่อแบรนด์และสินค้า ท่ามกลางความเหนื่อยอ่อน ล้มหายตายจากไปของรายเล็กๆ ในตลาด ทำให้ นี่จึงกลายเป็นโอกาสในการทำรายได้ และกำไรอย่างมหาศาลอย่างมีนัยน่าศึกษา

  • TOP5 อสังหา กำไรพุ่งสวนตลาด


โดยเฉพาะ TOP5 อสังหาฯไทย ที่ยังคงมีผลงานดีเยี่ยมในช่วงครึ่งปีแรก 2565 กำไรสุทธิทะลุหลักพันล้านบาท ดังนี้ (ตามลำดับ)

  1. บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH โดยงบการเงิน 6 เดือน ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 4,070 ล้านบาท เป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรม ตัวเลขเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 12.64% ซึ่งหลักยังมาจากรายได้การขายโครงการบ้านเดี่ยว ,ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม ที่  15,325 ล้านบาท แม้ลดลงเล็กน้อย แต่ก็ยังสามารถยืนเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมได้อย่างแข็งแกร่ง และมีรายได้จากค่าเช่า-บริการ ,บริษัทร่วมลงทุนเติมเต็มร่วมด้วย
  2. บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ AP เป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกแง่ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขรายได้รวม กำไร ยอดขาย ตลอดจนจำนวนการเปิดตัวโครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย 6 เดือนแรก เอพี เผย สามารถทำรายได้รวมกว่า 25,270 ล้านบาท ขณะกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,304 ล้านบาท ทั้งนี้ มีสินค้าแนวราบทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม ยังคงเป็นคีย์ไดร์ฟสำคัญของผลประกอบการปีนี้
  3. บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALL ครึ่งปีแรก ผลงานโดดเด่น หลังลูกค้า ตอบรับการโอนกรรมสิทธิ์ ในกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียมที่แล้วเสร็จ รวมถึงแนวราบพร้อมอยู่ฯ ที่กระจายหลากหลายทำเล ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ทำให้ มีรายได้รวม สูงถึง 14,092 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 28% และกำไรสุทธิ 3,253 ล้านบาท โตกว่า 32% เตรียมทำสถิติสูงสุดใหม่อีกรอบ
  4. บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI กลุ่มธุรกิจที่แตกย่อยหลายแขนง มีโครงการคอนโดฯเป็นพระเอก พบในช่วงครึ่งปีแรก 2565 ทำกำไรสุทธิได้ 1,893 ล้านบาท โดยน่าสนใจในแง่การลดลงของต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการขาย ภายใต้กลยุทธ์ Everyone  can sell อีกทั้งมีรายได้จากการเปิดใหม่กลุ่มโรงแรม และ ค่าบริหารจัดการเข้ามาช่วยหนุนอีกทาง รักษาระดับการแข่งขันได้อย่างน่าสนใจ
  5. บริษัท แสนสิริ  จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI โดยผลประกอบการของบิ๊กอสังหาฯรายนี้ งวด 6 เดือน มีรายได้รวม 13,057 ล้านบาท ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิ ขยับขึ้นมา 17% จาก 1,046 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,220 ล้านบาท ทั้งนี้ พบแม้รายได้ในกลุ่มบ้านเดี่ยว และ คอนโดฯ ชะลอตัวลง แต่ได้แรงหนุนจากการขายโครงการมิกซ์โปรดักส์ และ ทาวน์โฮมเพิ่มขึ้น 43% และ 44% ตามลำดับ เดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน



อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามอง ถึงทิศทางผลประกอบการอสังหาฯ ในระยะข้างหน้า คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ตามแรงบีบ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ต่อปี และ อาจไปแตะถึงระดับ 1 - 1.25% ต่อปี ในช่วงสิ้นปี 2565ซึ่งจากสูตรคำนวณ จะพบว่า ทุกการขึ้นอัตรา
ดอกเบี้ย 1% จะส่งผลกระทบต่อการผ่อนที่อยู่อาศัยราว 7% นั่นหมายถึง ภาพกำลังซื้ออาจมีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกัน ต้นทุนทางการเงินของผู้พัฒนาฯก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน