เปิดแผนรุก 5 ธุรกิจหลัก ซี.พี.แลนด์ ผุดศูนย์ประชุมขอนแก่น-นิคมฯระยอง

12 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
ซี.พี.แลนด์ เปิดแผนรุก 5 ธุรกิจหลัก กลุ่มอสังหาฯตั้งเป้ามีโครงการที่พร้อมโอน 1,500-1,800 หน่วย ด้านโรงแรมปั้นแบรนด์ใหม่เสริม"ฟอร์จูน ดี" พร้อมด้วยโครงการศูนย์ประชุม ที่ขอนแก่น และนิคมอุตสาหกรรม ระยอง เผยยุทธศาสตร์จัดสัดส่วนรายได้กลุ่มเช่าและขายได้สมดุล

นายสมเกียรติ เรือนทองดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ปัจจุบันธุรกิจของซี.พี.แลนด์ มี 5 เสาหลักประกอบด้วย 1.ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย มีโครงการคอนโดมิเนียม ภายใต้แบรนด์กัลปพฤกษ์ และดรีม กับโครงการบ้านจัดสรร และทาวน์เฮ้าส์ ภายใต้แบรนด์ทัสคานี 2.ธุรกิจอาคารสำนักงาน ภายใต้แบรนด์ซี.พี.ทาวเวอร์ 3.ธุรกิจโรงแรม ภายใต้แบรนด์ ฟอร์จูน เป็นหลัก โดยทั้ง 3 ธุรกิจที่กล่าวมา ณ วันนี้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดหลักๆ ทั่วประเทศได้ถึง 33 จังหวัด นอกจากนี้มีโครงการพิเศษ 2 โครงการ จัดเป็นเสาหลักที่ 4. คือโครงการนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง และ 5.โครงการศูนย์ประชุม ที่จังหวัดขอนแก่น (Convention & Exhibition Center) โดยตั้งเป้าหมายรักษาสัดส่วนรายได้ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าและเพื่อขายให้เท่ากันที่ส่วนละ 50% ให้ได้ภายในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากเดิมรายได้จากอสังหาฯเพื่อเช่าจะมากกว่าขาย แต่ ณ สิ้นปี 2558 รายได้จากอสังหาฯเพื่อขายมากกว่าเช่าในสัดส่วน 70% กับ 30%

ทั้งนี้ ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้นซี.พี.แลนด์มีความเชี่ยวชาญตลาดต่างจังหวัด ในแต่ละปีบริษัทฯจะมีหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขาย 1,500-2,000 หน่วย โดยมีสินค้าที่รอรับรู้รายได้หรือแบ็คลอคอยู่ในระดับเดียวกัน เช่นปี 2559 มีแบ็คลอคประมาณ 1,500-1,800 หน่วยที่พร้อมจะโอน

ด้านนางสาวนราวดี วรวณิชชา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการลงทุนและบริหารโรงแรม กล่าวเสริมว่า ถึงแม้ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดค่อนข้างซบเซา แต่สำหรับซี.พี.แลนด์ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากได้ศึกษาตลาดและรู้ถึงความต้องการของลูกค้าต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการบริหารความเสี่ยงด้วยการลงทุนโครงการขนาดเล็กถึงกลาง จะไม่ลงทุนโครงการใหญ่เป็นพันหน่วย ทำให้ทุกโครงการได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในท้องถิ่น ล่าสุดโครงการคอนโดมิเนียมที่ขอนแก่น 3 อาคาร ขายหมดแล้ว มีบางส่วนรอลูกค้ามาโอน โดยช่วงที่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์บริษัทได้รับอานิสงค์ค่อนข้างมาก แม้เมื่อสิ้นสุดมาตรการบริษัทฯก็จัดโปรโมชั่นแบบเดียวกันต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นตลาด

ในส่วนธุรกิจโรงแรมปีนี้จะเปิดแบรนด์ใหม่ ฟอร์จูน ดี ในคอนเซปท์โรงแรมสำหรับนักเดินทาง (Traveller Hotel) เปิดตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ เช่น บนถนนทางหลวง และจังหวัดสำคัญๆ โดยมีจำนวนห้องประมาณ 79 ห้อง ปลายปีนี้นำร่องที่แม่สอด จังหวัดตาก นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ ฟอร์จูน ดี-พลัส เป็นห้องพักที่ไม่มีสระว่ายน้ำ แต่มีบริการไว-ไฟและทีวี กับอาหาร 1 มื้อ ที่ลูกค้าสามารถเลือกเวลาได้ตามต้องการ โครงการแรกจะเปิดที่ถนนธนะรัชต์ เขาใหญ่ สำหรับโรงแรมในคอนเซปท์ใหม่นี้ตั้งเป้าเปิดปีละ 10 แห่ง

ส่วนโครงการพิเศษ นายสมเกียรติ กล่าวถึงโครงการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า ขอนแก่น ตั้งเป้าเป็นไมซ์ซิตี้ รองรับการจัดประชุมและแสดงสินค้าในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและต่อเนื่องถึงประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย โครงการมีพื้นที่ 26 ไร่ งบลงทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 16 เดือน ส่วนโครงการนิคมอุตสาหกรรมระยอง ที่อำเภอบ้านค่าย พื้นที่ประมาณ 3,100 ไร่ และพื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 100 ไร่ รองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มูลค่าลงทุนประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนทำการขาย จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ เน้นโรงงานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559