นับ 1-8 หลักการ 'พัฒนาพื้นที่' รอบสถานี ทำอย่างไร?เข็นไทยสู่สากล

03 ก.ค. 2565 | 06:53 น.

ส่องแบบประเมิน 8 ข้อ หลักการพัฒนาเมือง ผ่านรูปแบบ TOD ของสากล เทียบประเทศไทย เมื่อพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ต้องถูกออกแบบและจัดสรรอย่างสมดุล

3 ก.ค.2565 - ระหว่างที่บ้านเรายังคงถกเถียง เรื่องอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่าควรเก็บเท่าไหร่ ถึงพอเหมาะและสร้างประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่ เพราะยิ่งแพง ยิ่งผลักให้คนหนีห่างจากการใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทาง สร้างปัญหาการจราจรไม่รู้จบ

 

ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน เมือง กทม.ก็ถูกขยายออกไปเรื่อย ผ่านแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าหลายสี หลากเส้นทาง แต่ยังไร้การจัดสมดุลพื้นที่ หรือ การสร้างประโยชน์ที่เชื่อมต่อระหว่างกัน เพื่อคุณภาพชีวิตคนเมือง 

 

นี่จึงเป็นคำถาม ว่ารูปแบบ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ หรือ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก จะสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่? 'ฐานเศรษฐกิจ' ชวนพิจารณาร่วมกัน

TOD Standard หลักการพัฒนาพื้นที่ 8 ประการ ที่เราอยากเห็น 

ซึ่งหากนับตั้งแต่แนวคิด TOD (Transit Oriented Development) หรือ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ เป็นที่รู้จักตั้งแต่ปีค.ศ.1993 จนถึงวันนี้ แนวทางการพัฒนาแบบ TOD ได้สร้างแนวทางการพัฒนาจนได้มาตรฐานที่สามารถนำไปใช้ในชื่อ TOD Standard ซึ่งปัจจุบันพัฒนามาถึงเวอร์ชัน ที่ 3 หรือเรียกว่า TOD Standard 3.0 

 

โดยให้มาตรฐานตามคะแนนรวมทั้งหมด 100 คะแนน หากการพัฒนาพื้นที่นั้นได้คะแนน 86 - 100 จะได้ Gold standard ส่วนคะแนนตั้งแต่ 71 – 85 ได้ Silver standard และคะแนน 56 – 70 ได้ Bronze standard โดยคะแนนจะพิจารณาจากแนวทางการพัฒนาทั้ง 8 ด้าน ดังต่อไปนี้ 

นับ 1-8 หลักการ 'พัฒนาพื้นที่' รอบสถานี ทำอย่างไร?เข็นไทยสู่สากล

  • Walk (15 คะแนน)

โครงข่ายทางเดินเท้าที่ดีเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการพัฒนาตามแนวทาง TOD ทางเดินที่ดี ไม่เพียงแต่ทำทางเดินให้กว้างขวาง สะอาด สวยงาม และปลอดภัยเท่านั้น  แต่ยังต้องพิจารณาเรื่องสิ่งกีดขวาง ความลาดชัน บันได เส้นบล็อกนำทางอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา และผู้ใช้งานวีลแชร์ สำคัญที่สุด คือ ทางเดินนั้นต้องดีต่อกายและใจ ไม่ว่าจะเป็นความร่มรื่นจากต้นไม้ เก้าอี้นั่งพักระหว่างทาง กิจกรรม สีสันของผู้คนระหว่างทางเดิน มีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น ห้องน้ำสาธารณะ ถังขยะ ไฟทางเดิน ป้ายบอกทาง คือ โครงข่ายทางเดินเท้าที่มีคุณภาพ

 

  • Cycle (5 คะแนน)

แม้หัวข้อนี้จะมีความสำคัญเพียง 5 คะแนน แต่ก็เป็นคะแนนสำคัญที่อาจชี้วัดความเป็นไปว่าจะได้ TOD ระดับทองหรือไม่ การเดินทางด้วยจักรยานได้รับความนิยมเป็นอันดับสอง รองลงมาจากการเดินเท้า ในจุดที่ TOD ให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องการออกแบบเส้นทางจักรยานที่มีความปลอดภัย การจัดทำที่จอดจักรยานชั่วคราว ที่จอดจักรยานถาวร รวมถึงจุดขึ้นลงจักรยานว่าสามารถจอดแล้วจรต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน

 

  • Connect (15 คะแนน)

การสร้างเส้นทางเชื่อมโยงทุกการเดินทางในเมือง โดยใช้สถานีขนส่งสาธารณะอย่างไร้รอยต่อ ภายในระยะ 400 เมตรจากตัวสถานีขนส่งสาธารณะ ประชาชนสามารถสัญจรไปมาภายในรัศมี อย่างสะดวกสบายได้ด้วยโครงข่ายทางเดินเท้า และจักรยาน จูงใจทำให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเห็นว่าการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้พวกเขาเข้าถึงสถานที่ทำงาน และร้านค้าดีกว่า

นับ 1-8 หลักการ 'พัฒนาพื้นที่' รอบสถานี ทำอย่างไร?เข็นไทยสู่สากล

  • Transit (ไม่มีคะแนน)

เส้นทางคมนาคมและสถานีขนส่งสาธารณะ เป็นหัวใจและจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทุกอย่างตามแนวทาง TOD ในหัวข้อนี้จึงไม่มีคะแนน แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดไปไม่ได้เลย เพราะถ้าขาดระบบขนส่งสาธารณะก็จะไม่มีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง TOD เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามคำแนะนำของ TOD กล่าวว่าสถานีขนส่งสาธารณะที่ดี ควรมีระบบขนส่งที่มีความหลากหลาย เข้าถึงทุกพื้นที่ของเมือง เพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางให้กับประชาชน

 

  • MIX (25 คะแนน)

MIX คือ การผสมผสานพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว ประชาชนต้องเข้าถึง ร้านค้า คลินิกการแพทย์ ร้านอาหาร ธุรกิจ สถานบริการ สนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะ และการจัดสรรพื้นที่ที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผู้มีรายได้น้อยก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีเฉกเช่นผู้มีรายได้สูง ด้วยการเข้าถึงบริการพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันได้ด้วยการเดิน หรือปั่นจักรยานเหมือนกัน  ที่สำคัญคือต้องไม่ทำลายชุมชน และวัฒนธรรมของผู้อยู่อาศัยเดิมที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงพื้นที่พัฒนา แต่ต้องทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงการมีส่วนร่วม และเข้ามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาร่วมกันได้

 

  • Densify (15 คะแนน)

การกำหนดพื้นที่ความหนาแน่นของประชากรอย่างเหมาะสม คือส่วนสำคัญที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย TOD ไม่ใช่เพียงการกำหนดความหนาแน่นโดยรวมของประชากรในพื้นที่ แต่ต้องทำให้พื้นที่พัฒนานั้นมีความหนาแน่นอย่างเหมาะสม ระหว่างพื้นที่อยู่อาศัย กับพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เช่นการจัดสรรพื้นที่ทำกิจกรรมของชุมชน สวนสาธารณะ พื้นที่โล่งกว้าง เป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้หายใจ หลีกหนีจากความแออัด ลองนึกภาพดูว่าแม้จะมีทางเดิน สวนสาธารณะ และสถานีขนส่งสาธารณะที่น่าใช้งานแค่ไหนก็ตาม แต่คงไม่มีใครอยากใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความแออัด มองไปทางไหนก็มีแต่ผู้คน เดินหัวไหล่ชนกัน การจัดสรรพื้นที่ต่างๆ ต้องมีความหนาแน่นที่เหมาะสม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

  • Compacts (10 คะแนน)

แม้จะเป็นสเกลการพัฒนาระดับใหญ่ แต่ในการใช้งานจริงต้องมีความกระชับในการเดินทาง กล่าวคือการออกแบบเส้นทาง ต้องช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ทุกจุดรอบสถานีขนส่งสาธารณะ สามารถเลือกเส้นทางที่สั้นที่สุดในการเดินทางระหว่างที่พัก ที่ทำงาน ศูนย์การค้า สวนสาธารณะ หรือจุดหมายปลายทางในย่านนั้น โดยใช้เวลาไม่นาน ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อย เช่นหากต้องการเดินทางไปร้านขายยา จะสามารถเดินถึงได้ในระยะไม่เกิน 400 เมตร เป็นต้น

 

  • Shift (10 คะแนน)

ข้อสุดท้ายคือการดูภาพรวมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่พัฒนา ว่าสนใจลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ยิ่งประชาชนหันมาใช้การเดินเท้า ปั่นจักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งสะท้อนคุณภาพชีวิตของคนเมืองมากขึ้นเท่านั้น

 

หากการพัฒนาข้อ 1 – 8 ทำได้ดี ย่อมจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่า TOD ไม่ใช่เพียงแค่สร้างแนวคิดการพัฒนาแล้วนำไปใช้ แต่ต้องทำให้แน่ใจว่าการพัฒนานั้น สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในพื้นที่ใหม่ หรือพื้นที่ที่มีผู้อยู่อาศัยเดิมอยู่ก่อนแล้วก็ตาม ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกชนชั้น จะต้องได้ประโยชน์จากการพัฒนาตามแนวทางของ TOD ไปด้วยกัน

 

ที่มาข้อมูล : บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด, www.sutp.org