ถอดบทเรียน อาคารในสนามบินดอนเมือง พายุฤดูร้อนพังถล่มโครงสร้าง

19 เม.ย. 2565 | 05:27 น.

ถอดบทเรียน อาคารในสนามบินดอนเมือง ผลกระทบพายุฤดูร้อนพังถล่มโครงสร้าง มีปัจจัยเสี่ยง 6ประการ เป็นเหตุสร้างความเสียหาย

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยระบุว่าจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก และมีพายุฝนพัดถล่มอาคารในสนามบินดอนเมืองเมื่อคืนวันที่ 18 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ทำให้หลังคาและกำแพงของอาคารได้รับความเสียหายบางส่วนนั้น แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บนั้น

 

 

สมมุติฐานเบื้องต้นคือ 1. ความแรงของพายุฤดูร้อนที่มาพร้อมกับฝนฟ้าคะนอง และ 2. น้ำหนักของน้ำฝนที่ตกลงมาและอาจขังอยู่ในบางบริเวณของหลังคา

ถอดบทเรียน อาคารในสนามบินดอนเมือง พายุฤดูร้อนพังถล่มโครงสร้าง

ทำให้เกินกำลังรับน้ำหนักของชิ้นส่วนโครงสร้างได้ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริง ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ส่งวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบหาสาเหตุและขอบเขตของความเสียหายต่อไป

 

 

 

 

อย่างไรก็ตามบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความรุนแรงของพายุฤดูร้อนที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างในช่วงระยะเวลานี้ได้ โดยมีปัจจัยเสี่ยง  6 ประการคือ

 

 

1.            พายุฤดูร้อนมักเกิดในช่วงเดือนเมษายน หรือในช่วงก่อนเริ่มฤดูฝน เป็นพายุที่มีความรุนแรงมาก เนื่องจากความแปรปรวนในกระแสลม อาจสร้างแรงกระทำต่อโครงสร้างได้มากกว่าแรงลมทั่วไป 2 ถึง 3 เท่า

 

 

2.            พายุฤดูร้อนจะเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน แล้วมีมวลอากาศเย็น หรือที่เรียกว่าความกดอากาศสูงพัดมาปะทะกับมวลอากาศร้อน หรือความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้อากาศในบริเวณนั้นแปรปรวนเกิดความรุนแรงจนกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนองขึ้น

 

 

3.            พายุฤดูร้อนอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ในบางบริเวณ แต่ก็มีความรุนแรงมากที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้างที่มีพื้นผิวหรือพื้นที่ปะทะลมมาก เช่น หลังคา และ ผนัง เป็นต้น

4.            โครงสร้างที่อ่อนไหวต่อพายุฤดูร้อนเช่น ป้ายโฆษณา หลังคา ตลอดจนบ้านเรือนหรือโครงสร้างที่ยึดกับฐานรากไม่แข็งแรงซึ่งปรากฎเป็นข่าวทุกปี

 

 

5.            โครงสร้างบางประเภทอาจไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับพายุฤดูร้อนตั้งแต่ต้น เนื่องจากการกำหนดค่าแรงลมที่คำนึงถึงพายุฤดูร้อน เพิ่งเริ่มมีขึ้นในปี 2550 ซึ่งก่อนหน้าปี 2550 ค่าแรงลมที่ใช้ออกแบบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารคำนึงเฉพาะแรงลมทั่วไป แต่ไม่ได้คำนึงถึงความแรงของพายุฤดูร้อน

 

 

6.            สำหรับอาคาร ที่มีพื้นที่หลังคากว้าง ควรจัดการเรื่องการระบายน้ำฝนที่มาพร้อมกับพายุฤดูร้อน ไม่ให้เกิดการท่วมขัง เนื่องจากน้ำหนักน้ำค่อนข้างมาก อาจทำให้โครงสร้างหลังคาวิบัติได้

 

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีกฎหมายตรวจสอบอาคารและป้ายโฆษณาที่มีความสูงเกิน 15 เมตร หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป เจ้าของอาคารและป้ายโฆษณาจะต้องจัดการให้อาคารหรือป้ายโฆษณาของตนอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน