กมธ.คมนาคม เสนอ 2 ทางออก ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว-ตั้งคกก.ชุดใหม่ทบทวน

20 ก.พ. 2565 | 01:19 น.

เวทีสัมมนา กมธ.คมนาคม เสนอ 2 ทางออกขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว-ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ทบทวนร่างสัญญาสัมปทาน พร้อมกําหนดเกณฑ์แบ่งปันผลประโยชน์ค่าโดยสาร เสนอคลังผ่อนผันหนี้

การสัมมนาเรื่อง "สายสีเขียวจะไปอย่างไรต่อ" เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กำลังเป็นประเด็นจับตาของสังคมขณะนี้

 

นายโสภณ ซารัมย์ ประธานกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า หลังจากฟังความเห็นจากทุกฝ่าย คณะกรรมาธิการการคมนาคมเห็นควรให้ทุกฝ่ายร่วมผลักดัน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ไปต่อได้ ภายใต้หลักการธรรมาภิบาล ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากในกรณีที่การเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว ครม. พิจารณาไม่เห็นชอบ กทม. จะมีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้
 

กรณีที่ 1 ดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 

 

กรณีที่ 2 ให้กระทรวงมหาดไทย โดย กทม. พิจารณาทบทวนผลการเจรจา และปรับปรุงร่างสัญญาสัมปทาน แล้วจึงดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 ข้อ 3 เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) รวมทั้งอัตราค่าโดยสารเป็นไปอย่างเหมาะสม ให้กระทรวงมหาดไทยดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง โดยคณะกรรมการมีหน้าที่กําหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่น เพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 พร้อมดําเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 

 

รวมทั้งการพิจารณาเจรจาและทบทวนร่างสัญญาสัมปทานอีกครั้ง โดยให้ผู้ว่า กทม. ที่จะได้รับเลือกตั้งใหม่ ในปี 2565 มาร่วมพิจารณาดำเนินการ ภายใต้การรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภค ประชาชนผู้ใช้บริการ แล้วจึงนำมาเสนอ ครม. พิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดได้

 

อาทิ การคิดคำนวณอัตราค่าโดยสาร การบริหารจัดการรายได้ รวมทั้งการบริหารจัดการหนี้สิน ภายใต้กรอบระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งการแก้ไขภาระหนี้สินที่ กทม. แบกรับในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ควรแบ่งการพิจารณา ดังนี้

 

ภาระหนี้ส่วนที่ 1 งานระบบไฟฟ้าในส่วนต่อขยายกว่า 20,000 ล้านบาท ควรให้กระทรวงการคลังบันทึกทำเป็นรายการหนี้ไปก่อน ไม่จำเป็นต้องชำระหนี้ในทันที แต่ให้ขอผ่อนผันชำระหนี้ภายหลังการบริหารจัดการรายได้แล้ว

 

ภาระหนี้ส่วนที่ 2 ค่าใช้จ่ายในการบริหารเดินรถในส่วนต่อขยายกว่า 17,000 ล้านบาท ควรพิจารณาจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายในอัตรา 15 บาทตลอดสาย เพื่อนำรายได้มาแบ่งเบาภาระหนี้สินและเมื่อดำเนินการบริหารจัดการโครงการ ให้นำรายได้ตลอดทั้งโครงการภายหลังปี 2572 มาบริหารระดมทุนในกองทุนที่จัดตั้งเพื่อบริหารจัดการภาระหนี้สินดังกล่าว