โควิด ฉุดแผนพัฒนาที่ดินย่านสถานีธนบุรีลากยาว รฟท.ต่อสัญญาศาลาน้ำร้อน

28 ต.ค. 2564 | 03:00 น.

โควิด ฉุดแผนพัฒนาที่ดินส่อลากยาว รฟท.ยันประมูลบ้านพักพนักงานธนบุรี21ไร่ 3.5 พันล้าน ยังไม่คืบ หลังดึงบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เข้ามาบริหารดูแล กระทบเปิดประมูลล่าช้า คาดเริ่มปลายปี 65 ยืนยันต่อสัญญาศาลาน้ำร้อนให้สิทธิ์เอกชนผู้เช่ารายเดิม 10-15 ปี

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของภาคเอกชนต่อการประมูลที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่ดินผืนใหญ่ย่านสถานีธนบุรี ประกอบกับ คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยบอร์ดรฟท. มีมติ ให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด บริษัทลูก ศึกษาใหม่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจรวมถึงการ พิจารณา นำที่ดินแปลงที่จะหมดอายุสัญญามา พัฒนาให้สอดรับกันสร้างมูลค่าเพิ่ม ภายหลังจากรฟท.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาไปแล้วโดยเฉพาะที่ดินบริเวณบ้านพักพนักงานรถไฟ สถานีธนบุรีเนื้อที่21ไร่ ติดกับโรงพยาบาลศิริราชและจุดตัดสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีแดง    

 

 


รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า  สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาย่านสถานีรถไฟธนบุรี บริเวณบ้านพักพนักงานย่านธนบุรี พื้นที่ 21 ไร่  มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท  ขณะนี้รฟท.ได้มอบหมายให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของรฟท.ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวตามมติของคณะกรรมการรฟท.คาดว่าโครงการนี้จะใช้เวลาศึกษานาน เนื่องจากบริษัทลูกยังไม่ค่อยมีความรู้ความชำนาญในด้านระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ส่วนการประมูลโครงการฯ ให้สิทธิเอกชนหาประโยชน์ระยะยาว 30 ปี รวมระยะเวลาก่อสร้างอีก 4 ปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปี 2565 หรือภายในปี 2566 เนื่องจากอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านให้บริษัทลูกรับช่วงเพื่อไปดูแลต่อ รวมทั้งสัญญาในการว่าจ้างยังไม่ได้ดำเนินการ  

 

 

ขณะเดียวกันโครงการฯนี้ รฟท.ยังไม่ได้ดำเนินการลงพื้นที่เคลียร์บ้านพักพนักงาน จำนวน 305 ครัวเรือน เนื่องจากรฟท.ยังไม่ได้ริเริ่มการประมูลและยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างอาคารที่พัก รวมทั้งยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าบ้าน เพราะในส่วนนี้จะมีการผูกสัญญาร่วมกับสัญญาการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เบื้องต้นตามผลการศึกษาพบว่าโครงการฯนี้ จะทำให้รฟท.ได้รับผลตอบแทนกว่า 10% 
 

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการฯ ซึ่งทำให้การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาราว 50% ล่าช้าออกไป หากโควิด-19 คลี่คลายลง เชื่อว่าศักยภาพและแหล่งเงินทุนธุรกิจต่างๆจะดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมลงทุนมากขึ้น”

 

 

ที่ผ่านมาจากผลการศึกษาภายหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน จำนวนพื้นที่ 21 ไร่ 3 งานนั้น เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 14 ไร่ มีมูลค่าที่ดิน 1,770 ล้านบาท ให้เอกชนเช่า 30 ปี มีผลตอบแทนให้ รฟท. 1,125 ล้านบาท เมื่อลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูล เอกชนต้องจ่ายทันที 337 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ของผลตอบแทน จากนั้นจะทยอยจ่ายเป็นรายปีจนครบ 30 ปี โดยจะจ่ายปีละ 47.48 ล้านบาท จากนั้นเพิ่มขึ้น 10% ทุก 3 ปี ปีสุดท้ายจ่าย 196.69 ล้านบาท เมื่อรวม 30 ปี รฟท. จะได้ผลตอบแทนรวม 3,584 ล้านบาท ทั้งนี้สิ่งแรกที่เอกชนต้องดำเนินการหลังจากลงนามสัญญาคือ เคลียร์พื้นที่บ้านพนักงานการรถไฟที่อยู่ในปัจจุบัน 305 ครัวเรือน โดยในสัญญากำหนดให้ก่อสร้างบ้านพักสำหรับพนักงานฯ 315 ห้อง ทดแทนบ้านพักเดิมบนพื้นที่ 3 ไร่

สำหรับรูปแบบการพัฒนาโครงการพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านธนบุรี พื้นที่ 21 ไร่ เป็นโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับโรงพยาบาลและเป็นโรงแรมสำหรับที่พักเพื่อเยี่ยมผู้ป่วย ประกอบด้วย 1.โรงแรมและรีเทล เพื่อรองรับญาติผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลธนบุรี  ค่าห้องไม่เกิน 1,000 บาท/คืน2. ศูนย์พักฟื้นสุขภาพ รองรับผู้ป่วยพักฟื้นและดูแลสุขภาพโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี ค่าห้องค่าห้อง 40,000-60,000 บาท/เดือน และ3.เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และที่อยู่ผู้สูงวัย ค่าเช่า 30,000-50,000 บาท/เดือน 4.บ้านพักพนักงานรถไฟ 315 ยูนิต  พื้นที่ใช้สอย 35-50 ตร.ม. ทดแทนบ้านพักเดิม  5.พื้นที่โรงแรมและศูนย์การค้าสูง 13 ชั้น   

 

 


ส่วนการต่อสัญญาพื้นที่สถานีธนบุรี บริเวณศาลาน้ำร้อน ประมาณ 2.5 หมื่นตารางเมตร(ตร.ม.) ของบริษัท ยูไนเต็ด โกลเบิล เอเยนซี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับ รฟท. โดยพื้นที่ดังกล่าวจะหมดอายุสัญญาเช่าประมาณกลางปี 2565 นั้น  เบื้องต้นจะมีการต่ออายุสัญญาให้กับบริษัทรายเดิมอีก 10-15 ปี รวมทั้งผู้เช่ารายเดิมจะมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างให้กับรฟท. ซึ่งรฟท.จะมีการปรับเพิ่มค่าเช่าราว 2% เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามารถอาศัยอยู่ได้

 

 


“ยืนยันว่าการต่อสัญญาเช่าโครงการฯ บริเวณศาลาน้ำร้อนนั้น ไม่มีการบีบให้ผู้เช่าสัญญารายเดิมออกไป เนื่องจากที่ดินพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้เป็นโครงการฯช่วยประชาชนในพื้นที่ชุมชนมีรายได้จากการค้าขาย รวมทั้งบริเวณพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 2 ชั้น (พื้นที่สีน้ำเงิน) หากบีบให้ผู้เช่ารายเดิมออกไป เชื่อว่าผู้เช่ารายใหม่คงทำงานได้ไม่ดีเท่าผู้เช่าสัญญารายเดิม เชื่อว่าเจ้าของพื้นที่รายเดิมยังมีพันธะสัญญาร่วมกับผู้เช่าที่ค้าขายในพื้นที่ของโครงการฯ ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะได้ต่อสัญญาเช่าในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป”