อนันดา โวย เป็นเหยื่อระบบราชการซ้ำซ้อน คดี แอชตัน อโศก กระทบระดับประเทศ

02 ส.ค. 2564 | 05:32 น.

คดีพิพาท คอนโดฯหรู แอชตัน อโศก ปมใช้ทางร่วม รฟม. ผิดกม. อนันดา ฯ เปิดหน้าสู้ เรียกคืนความยุติธรรม ขณะ ชานนท์ เรืองกฤตยา ซัด เป็นเหยื่อ ของระบบราชการไทยที่ล้มเหลว เหตุ ขออนุญาตถูกต้อง 8 หน่วยงาน ตามหลัก TOD คล้าย10 โครงการ หวั่นสะเทือนความเชื่อมั่น-เศรษฐกิจระดับประเทศ

2 สิงหาคม 2564 - วาระแห่งชาติวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ประเด็นร้อนที่สังคมจับตา หลัง เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมหรู "แอชตัน อโศก" อาคารความสูง 50 ชั้น จำนวน 783 ยูนิต ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด(มหาชน) ทำให้โครงการดังกล่าว ไม่ต่างจากการเป็นโครงการเถื่อน และอาจมีความจำเป็น ต้องถูก ทุบ-รื้อถอนในภายหลัง เมื่อคดีความสิ้นสุด

 

ย้อนไป มูลเหตุคดีฟ้องร้องดัง เกิดขึ้นตั้งแต่  2 มิถุนายน 2559 หลัง สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน พร้อมกับคนในชุมชน ซอยสุขุมวิท 19 จำนวนรวม 16 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ในหลายประเด็นสำคัญ เป็น คดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559 โดยปมปัญหาสำคัญใหญ่สุด คือ มีการร้องเรียน ตั้งข้อสังเกตว่า ถนนส่วนหน้าโครงการนั้น ซึ่งเป็นการใช้ที่ดินของ รฟม. ถูกนำมาประกอบในการขออนุญาตการก่อสร้าง เป็นการใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และอาจขัดต่อ พรบ.เวนคืนฯ 

 

" เนื่องจากที่ดินดังกล่าวมีด้านที่ดินถนนสาธารณะเพียง 6.40 เมตรเท่านั้น ไม่ถึง 12 เมตรตามที่กฎหมาย พรบ.ควบคุมอาคารชุด กำหนด แม้จะขอเช่าจาก รฟม.เพิ่มอีก  6.60 เมตร แต่ก็หาใช่ที่สาธารณะไม่ " นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เวลานั้น ระบุ 

อนันดา โวย เป็นเหยื่อระบบราชการซ้ำซ้อน คดี แอชตัน อโศก กระทบระดับประเทศ

อนันดา เปิดหน้าชนคดี " แอชตัน อโศก" 

 

ล่าสุด นาย ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ดำเนินงานอย่างระมัดระวัง รอบคอบให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในเรื่องของการซื้อที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ทางเข้า-ออก ของ รฟม. จากโครงการอื่นๆ ซึ่งโครงการ แอชตัน อโศก ไม่ใช่รายแรกที่ใช้ทางเข้า-ออกของ รฟม. รวมถึงเรื่องการดำเนินงานขออนุมัติใบอนุญาตต่างๆ ทุกขั้นตอนอย่างถูกต้อง ภายใต้กฎระเบียบและข้อบังคับของภาครัฐอย่างเคร่งครัดเสมอมา และได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ทำให้บริษัทฯ มั่นใจอย่างยิ่งว่าในกระบวนการดำเนินโครงการแอชตัน อโศก ที่ผ่านมาทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องและสุจริต ชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน

อนันดา โวย เป็นเหยื่อระบบราชการซ้ำซ้อน คดี แอชตัน อโศก กระทบระดับประเทศ

อนันดา ย้ำว่า ก่อนพัฒนาโครงการ ได้จัดทำขั้นตอนศึกษาที่ดินมาอย่างดี  โดยเป็นการรวมแปลงที่ดินย่อย 3 แปลงร่วม ภายในซอยสุขุมวิท 19 ขนาดพื้นที่ 2.3ไร่  แต่ปรากฎ มีทาง ที่จะใช้เป็นทางเข้า-ออก หลัก ราว 6.4 เมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนั้น ทางการ มีแนวคิดในการพัฒนาเมืองที่เรียกว่า TOD หรือ  Transit Oriented Development  เป็นหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีความหนาแน่นสูง และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน

 

โดยมีที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ สำนักงาน และการใช้ประโยชน์ประเภทอื่น ๆ พร้อมกับออกแบบเพื่อรองรับผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินเท้าและใช้จักรยาน เพื่อให้มีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย ลดการพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

 

ข้อกำหนด TOD

1.ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ 

2.ประกอบธุรกิจที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่

3.ประกอบธุรกิจอื่น 

 

บริษัท เข้าเงื่อนไข ข้อ 2 ของแนวคิด ผ่านการทำข้อตกลง ขอใช้ที่ดินบางส่วนของ รฟม. ในการขยายถนนให้มีความกว้าง 12 เมตร ตามข้อกำหนด ใน พรบ.ควบคุมอาคาร เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทางเข้า- ออก ของโครงการแอชตัน อโศก โดยอนันดาได้กำหนดอัตราค่าตอบแทน การขออนุญาตใช้ที่ดินของ รฟม. ตามแนวคิด ตามหลักเกณฑ์ทางการ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร  ผ่านรูปแบบ 'อาคารจอดรถ' มูลค่าประมาณ 97 ล้านบาท แลกกับการขอใช้ทางตลอดไป โดยยืนยันว่า ขณะนั้น มีคณะกรรมการของ รฟม.เป็นผู้อนุมัติ เป็นการปฏิบัติตามระเบียบ การขอใช้พื้นที่ ของ รฟม. ปี 2556 ซึ่งเป็นระเบียบเดียวกันกับที่หลายโครงการในกทม.มากกว่า 10 แห่ง ที่ทำสัญญากับ รฟม.ในการใช้พื้นที่ ตามแนวคิด TOD เช่นกัน

 

" เราศึกษาข้อมูลของที่ดินก่อนเริ่มพัฒนาโครงการ และขอใบอนุญาตก่อสร้างมาอย่างดี เพราะที่ดินไม่ได้ถูกๆ ใจกลางอโศก ราคาเกินล้านบาทต่อตร.ว เห็นและรับรู้ปัญหาเรื่องทางเข้าออก แต่ขณะนั้น รฟม.ยืนยันว่าทำได้ โดยอาศัยเกณฑ์แนวคิด TOD  ตามกฎหมายที่ดินที่เรามี ทางออกมีไม่ถึง 12 เมตร จึงขอขยายเพิ่ม โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรกับ รฟม.อย่างถูกต้อง ยืนยันไม่ใช่โครงการแรก มีโครงการอื่นๆ ทำมาแล้ว และไม่เคยเกิดปัญหา" 

 

" เราได้พิจารณาถึงความเสี่ยง ศึกษาความเป็นไปได้จากหลายหน่วยงาน รวมถึง กทม.ด้วย และ วันที่ 4 ก.ค 2557 มีการอนุญาตให้บริษัท ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรฟม. เป็นทางผ่านได้อย่างถูกต้อง แลกกับที่จอดรถมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท แม้ขณะนี้จะเห็นว่าเป็นราคาแพง เพราะเปรียบเทียบกับโครงการก่อนหน้า ก็แพงกว่ามา แต่ด้วยประโยชน์สูงสุด ที่เล็งเห็นแก่ลูกบ้าน และประโยชน์สาธารณะ วันที่ 10 ก.พ 2558 รายงาน อีไอเอ ให้ความเห็นชอบ เริ่มพัฒนาได้"
 

คำต่อคำ โก้-ชานนท์ เราเป็นเหยื่อ จะเอากันให้ตายเลยหรือ? 

 

นายชานนท์กล่าวต่อว่า การที่ศาลปกครองกลาง พิพิพากษา สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ถือเป็นความไม่เป็นธรรมอย่างมาก และสะเทือนถึงความล้มเหลวของระบบ-ระเบียบราชการไทย เพราะโครงการนี้ ผ่านมือผ่านตา การอนุมัติของหน่วยงานรัฐถึง 8 หน่วยงาน เอกสาร 9 ฉบับ อีกทั้ง มีการผ่านการขอความเห็น ก่อนดำเนินการใดๆ 7 หน่วยงาน จำนวน  5 คณะกรรมการ ซึ่งบ่งบอกได้ว่า บริษัทดำเนินการทุกอย่างมาอย่างถูกต้องโปร่งใส ในแง่พันธมิตรเอง มิตซุย ฟูโดซัง เรสซิเด้นท์เชียล เป็นบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเข้มต่อกฎระเบียบ ความถูกต้อง ฉะนั้น ไม่มีทางที่เราจงใจจะทำผิดกฎหมาย หรือ ละหลวมต่อขั้นตอนต่างๆ แต่สุดท้ายกลับเกิดปัญหาขึ้น 

 

" เราสุจริต โปร่งใส ในการทำงาน และพัฒนาโครงการทุกแห่ง  แอชตัน อโศก ถือเป็นโครงการเรือธงของอนันดา เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เหมือนโดนเสียบหัวใจ ให้เราตาย ผลกระทบเกิดขึ้นตั้งแต่นักลงทุน - ลูกค้า- พันธมิตร ผมนอนไม่หลับ จนต้องนั่งสมาธิ มันเป็นเรื่องลูกค้า แต่กระทบสังคม ประเทศชาติ อยากขอความธรรม ว่าเราเป็นเหยือ ไม่ใช่จำเลย สุดท้าย หากประเทศชาติคือบ้านหลังใหญ่ รัฐคือเจ้าของบ้าน ซึ่งเราได้ขออนุญาตแบบถูกต้องทุกขั้นตอน จะดูแลคนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ที่อาจสะเทือนไปถึงความเชื่อมั่นต่ออสังหาฯไทย และระบบเศรษฐกิจในภายหน้า นอกจากใช้สิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เราจะหาทุกวิถีทาง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยใช้คดีนี้เป็นกรณีตัวอย่าง ของความล้มเหลว คลุมเครือของระบบราชการไทย ที่ยุ่งยาก ซ้ำซ้อน และไม่เป็นธรรมในภายหลัง เพราะผลกระทบลามไปทั้งระบบ" 

 

นายชานนท์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ยังรับทราบถึงความเดือดร้อน ความเสียหาย ความทุกข์ใจของลูกบ้าน เจ้าของร่วม 578 ครอบครัว ที่ได้เข้าอยู่อาศัยในโครงการฯ มากว่า 2 ปี ซึ่งรวมถึงครอบครัวชาวต่างชาติอีก 140 ครอบครัว ที่ต้องแบกรับภาระต่างๆ รวมถึงผลกระทบอันเนื่องมาจากระยะเวลาในการพิจารณาตามกระบวนการของศาลปกครองสูงสุดซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี บริษัทฯ ทราบและตระหนักถึงความยากลำบากที่ลูกบ้านเจ้าของร่วมต้องเผชิญ บริษัทฯ

 

พร้อมให้คำมั่นว่าจะยืนหยัดเคียงข้างต่อสู้ไปด้วยกันกับลูกบ้านเจ้าของร่วมและจะสู้อย่างเต็มกำลังความสามารถจนถึงที่สุด บริษัทมั่นใจว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันและเราจะได้ใช้ชีวิตปกติสุขในโครงการฯ สืบไป

 
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับเจ้าของร่วมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ให้การสนับสนุนรวมถึงการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายทุกวิถีทางอย่างเต็มที่ ใช้สิทธิอุทธรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด อย่างเต็มกำลังความสามารถ

 

" ท้ายที่สุด บริษัทฯ ยืนยันในความถูกต้อง สุจริต และความโปร่งใส่ในการดำเนินโครงการ แอชตัน อโศก ซึ่งบริษัทฯ พร้อมที่จะเดินหน้า #SaveAshtonAsoke และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบกา และมั่นใจว่าเราจะสามารถชนะคดีนี้ได้อย่างแน่นอน” นายชานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

 

สรุปคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดี  แอชตัน อโศก (30 ก.ค.2564)


พิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต
ตามมาตรา๓๙ ทวิ ตามแบบ กทม. เลขที่ ๑๘/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ตัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารหรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา ๓๙ ทวิ ตามแบบ กทม.เลขที่ ๖๙/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑6 กรกฎาคม ๒๕๕๘ ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา ๓๙ ตรี ตามแบบ ยผ.๔ เลขที่ ๔๘/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ ฉบับแก้ไข และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา ๓๙ ตรี ตามแบบ ยผ.๔ เลขที่ ๑๒๙/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐. ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว

อนันดา โวย เป็นเหยื่อระบบราชการซ้ำซ้อน คดี แอชตัน อโศก กระทบระดับประเทศ