‘บางพลี-กิ่งแก้ว’ จ.สมุทรปราการ แหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่น

08 ก.ค. 2564 | 02:43 น.

รายงานพิเศษ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ : ‘บางพลี-กิ่งแก้ว’ สมุทรปราการ แหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่น ผลสะท้อน ความเจริญของเมือง และ ชุมชนกระทบ จากเหตุเพลิงไหม้รุนแรง โรงงานกิ่งแก้ว

เหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ โรงงานหมิงตี้เคมิคอล ถนนกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อชุมชนโดยรอบ นำมาซึ่งคำถาม ว่าผังเมืองรวมของสมุทรปราการ อนุญาตให้โรงงานที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ ตั้งอยู่ใจกลางชุมชน ใกล้สนามบินขนาดใหญ่ของประเทศได้อย่างไร แม้ภายหลัง จะมีคำตอบยืนยันว่า โรงงานดังกล่าวสร้างขึ้นมาก่อนกาล ตั้งแต่สนามบินยังสร้างไม่เสร็จ และ ณ ขณะนั้น ที่อยู่อาศัยโดยรอบ ยังไม่หนาแน่น เท่าในปัจจุบัน 

‘บางพลี-กิ่งแก้ว’ จ.สมุทรปราการ แหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่น ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ดร.พนิต ภู่จินดา ฐานะ นายกสมาคมนักผังเมืองไทย ระบุว่า ผังเมืองรวม จ.สมุทรปราการ พบมีการประกาศใช้ฉบับแรก เมื่อปี 2544  ระบุ ย่านสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทสถาบันราชการ) ขณะบริเวณ ถ.กิ่งแก้ว เป็นสีแดง (พาณิชยกรรม) เพื่อรองรับโกดังสินค้า และกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางอากาศ

 

ภายหลังผังเมืองรวมถูกปรับปรุงใหม่เรื่อยมา แต่พื้นที่ดังกล่าว ยังเป็นสีแดง ย้ำไม่ใช่พื้นที่เหมาะสมของการตั้งโรงงาน โดยเป็นอำนาจของคณะกรรมการผังเมือง ในการสั่งให้แก้ไข ปรับปรุง หรือระงับ และชดเชยกรณีโรงงานสร้างขึ้นมาก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบของชุมชนโดยรอบ จากเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น 

‘บางพลี-กิ่งแก้ว’ จ.สมุทรปราการ แหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่น

อย่างไรก็ตาม ในแง่อสังหาริมทรัพย์นั้น ปัจจุบัน ถนนสุขุมวิท, ถนนศรีนครินทร์, ถนนกาญจนาภิเษก ไล่ไปถึง ถนนกิ่งแก้ว กลายเป็นทำเลที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เปรียบเป็นเส้นหลัก (Main road) ไปสู่ภาคตะวันออก ที่กำลังคึกคัก ด้วยนโยบายของอีอีซี แหล่งอุตสาหกรรม - ส่งออกของประเทศ ทำให้ตลอดข้างทาง หนาแน่นไปด้วยโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ  ตั้งแต่ราคาระดับล่าง ไปถึงระดับบน เป็นอีกหนึ่งทำเลที่น่าจับตามอง ทั้งในแง่ผู้ซื้อ และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีแหล่งงาน แหล่งธุรกิจทะลักเข้ามา ก่อเกิดดีมานด์ความต้องการที่อยู่อาศัยสูง

 

โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า เมื่อ ณ สิ้่นปี 2563 โซนทำเล บางพลี - บางบ่อ - บางเสาธง มีหน่วยที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านจัดสรร และอาคารชุด เข้าใหม่ สูงเป็นอันดับ 1 ใน 6 จังหวัด กทม. - ปริมณฑล ที่ 5,073 หน่วย รองลงมาเป็นโซน พระโขนง - บางนา - สวนหลวง - ประเวศ ที่ 4,269 หน่วย โดยเฉพาะกลุ่มโปรดักส์ บ้านจัดสรร ที่เติบโตขึ้นทุกปี แม้ในปี 2563 กำลังซื้อที่อยู่อาศัยอ่อนแอลง แต่พบในโซนบางพลี หน่วยเข้าใหม่ในตลาดยังหนาแน่น ตั้งแต่ระดับราคาน้อยกว่า 1 ล้านบาท ไปจนถึง มากกว่า 10 ล้านบาท 

 

ขณะหน่วยคงเหลือขายในตลาด พบ โซนทำเล บางพลี- บางบ่อ - บางเสาธง รั้งอันดับสูงสุด เป็นอันดับ 3 ของตลาด ที่ 16,153 หน่วย เพิ่มขึ้นจากจำนวน 13,216 ของ ณ สิ้นปี 2562 โดยแบ่งเป็นอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) 3,212 หน่วย และบ้านจัดสรร 12,941 หน่วย ส่วนยอดขายรวมของโซนนี้ ยังพีค ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของตาราง สะท้อนการตอบรับของความต้องการใหม่ๆสูง อัตราดูดซับเฉลี่ยต่อเดือน 4.3% สูงกว่าทุกทำเล บ่งบอกถึงการเข้าอยู่ใหม่ หนาแน่น 

แม้การรุกคืบเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหญ่ พัฒนาทั้งอาคารสำนักงานเกรดเอ ห้างค้าปลีก เมกะโปรเจ็กต์น้อยใหญ่ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง AIA East Gateway, โครงการ Bangkok Mall, The Forestias ฯล และแผนพัฒนาโครงการพื้นฐาน แผนรถไฟฟ้า, ถนนตัดใหม่ ทำให้ทำเลโดยรอบ เจริญผิดหู ผิดตา และกลายศูนย์รวมของแหล่งงาน - แหล่งที่อยู่อาศัย แต่วันนี้ อาจจำเป็นต้องเร่งหาความสมดุลในการอยู่รวมกัน อย่างถูกต้อง ปลอดภัย เกื้อหนุนประโยชน์ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นในแนวทางกฎหมาย ผังเมือง และกฎกติกา สร้างใหม่ เพราะพบโดยรวม ยังมีโรงงานเสี่ยงหลายแห่งตั้งอยู่  โดยนำเหตุภัยพิบัติ อานุภาพความเสียหายร้ายแรง ที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด มาเป็นบทเรียน กำหนดอนาคตใหม่ได้ ...


หน้า 20 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,694 วันที่ 8 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564