ถอดรหัสคิด บิ๊กเนม ‘เพอร์เฟค’ แผนพลิกฟ้า ทำกำไร

05 เม.ย. 2564 | 01:09 น.

คอลัมน์ : ผ่ามุมคิด

ผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิ ปี 2563 ราว 1,757 ล้านบาท อันเนื่องจากรายได้ การขายอสังหาริมทรัพย์ โครงการบ้าน-คอนโดฯ และที่ดิน ของบริษัทเบอร์ใหญ่ในตลาด และมีชื่อเสียงยาวนาน อย่างบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF ได้ลดฮวบลงกว่า 5.7 พันล้านบาท ขณะธุรกิจโรงแรมในเครือ แกรนด์ แอสเสท ประสบวิกฤติการท่องเที่ยวโควิด จากที่สร้างกำไรกลายเป็นขาดทุนฉับพลัน ภาวะข้างต้น ทำให้ CEO ใหญ่ของกลุ่ม นายศานิต (เดิม:ชายนิด) อรรถญาณสกุล ต้องเขย่ากลยุทธ์ 

จากเดิม นอนฝันถึงแต่ที่ดิน กว้านซื้อ จนกลายเป็นแลนด์ลอร์ดรายใหญ่ แต่เมื่อตลาดอสังหาฯไม่สดใสอย่างเก่า การรีดไขมัน ลดภาระหนี้และการถือครองทรัพย์สินที่ยังไม่สร้างรายได้จึงเกิดขึ้น จากการประกาศว่าช่วงปี 2564 จะเป็นปีที่บริษัทจะเคลียร์สินทรัพย์ครั้งที่ใหญ่ที่สุด ผ่านการขายออกที่ดินที่ไม่มีแผนพัฒนา และสิทธิการเช่า รวมถึงขยายการลงทุนในโรงแรม และจัดตั้งกองทรัสต์ ร่วม 2.02 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินครั้งใหม่ และเปิดทาง เตรียมความพร้อม เมื่อตลาดอสังหาฯฟื้นกลับมามีโอกาส

ขณะนำ แกรนด์ แอสเสท หาน่านน้ำรายได้ใหม่ สู่ “ธุรกิจถุงมือยาง” ร่วมกับพันธมิตรตั้งบริษัทแกรนด์ โกลบอลฯ (GGG) ที่จะเป็นพระเอกในการสร้างรายได้ ควบคู่กับแผนการเปิดโครงการบ้านหรูของ PF อย่างเข้มข้น รวมเป้ารายได้ทั้งปี แตะระดับ 21,370 ล้านบาทอีกครั้ง 3 คำ หยุด-รุก-เพิ่ม คือ กลยุทธ์สู่โหมด “เทิร์นอะราวด์”

แผนพลิกฟ้า

ปีนี้การประกาศแผนธุรกิจของบริษัทมีความล่าช้า เพราะการคิด-สรุป เป็นไปท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์โควิด โดยมี 2 เรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งผลักดัน คือ 1. การเติบโตอย่างยั่งยืน ปรับหมวด สู่การกลับมาพลิกฟื้น หรือ “เทิร์น อะราวด์ทางรายได้ จากการดำเนินงานของ 3 บริษัท (พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, แกรนด์ แอสเสท และ GGG) โดยธุรกิจหลัก อสังหาฯ จะขับเคลื่อนให้มีรายได้เติบโต สานต่อโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างประเทศ 3 รายใหญ่ เปิดใหม่ 6 โครงการ 9.93 พันล้านบาท ส่วนเป้าขายอยู่ที่ 1.73 หมื่นล้านบาท 

ขณะเดียวกัน เดินหน้า ตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตและส่งออก ‘ถุงมือยาง’  ที่เริ่มจัดตั้งบริษัท ร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ ตั้งแต่ปลายปี 63 จัดตั้งโรงงานขนาดใหญ่ 2 โรง 16 ไลน์การผลิต โดยคาดจะเปิดดำเนินการได้ ช่วง พ.ค. นี้คาดยอดขายนำร่องปีแรกราว 3-4 พันล้าน ประมาณการ รายได้รวมปีนี้จะอยู่ที่ 21,370 ล้านบาท  2. สร้างความมั่นคงทางการเงิน ผ่านการกลับมาสำรวจตัวเอง  ซึ่งตั้งเป้าขายที่ดิน และการลงทุน เพื่อลดภาระหนี้ และทำกำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นราว 30% จากมูลค่าสินทรัพย์รวม 2.02 หมื่นล้านบาท เช่น ที่ดินรัชดา, แจ้งวัฒนะ, รามอินทรา และโรงแรมบางส่วน นับเป็นการเคลียร์หนี้ครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี 

“แผนนี้ จะทำให้บริษัท พลิกกลับมามีกำไรได้ จากธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่ ที่จะสร้างกำไรเข้ามาช่วยพยุงธุรกิจโรงแรมที่ขาดทุน  การขายที่ดิน-สินทรัพย์ ออกจะเกิดกำไรราว 30% บวกกับกำไรฝั่งการขายโครงการอีก 10% จะเป็นทางออกที่ดีให้กับกลุ่มบริษัท” 

 

ส่องเลนส์อสังหาฯ

เมื่อถามถึง มุมมองต่อตลาดอสังหาฯ ปีนี้ นายศานิต ระบุว่า คอนโดฯ จะเป็นเซกเตอร์ ที่คงกลับมาช้าที่สุด จนกว่าสถาน การณ์จะปกติ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดประเทศ ต่างชาติจะหันกลับมาสนใจมากขึ้น คาดโอกาสอยู่ในช่วงปลายปีนี้ ต่อเนื่อง ปี 2565 ส่วนตลาดบ้านเดี่ยว โดยเฉพาะบ้านหรู ที่เป็นโปรดักต์หลักของบริษัท มีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้พันธมิตรต่างชาติทั้ง 3 รายของบริษัท ได้แก่ ฮ่องกงแลนด์, ซูมิโตโม และเซกิซุย ยังให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนอสังหาฯในประเทศไทย หลังจากมีการพูดคุยกัน พบทัศนะคติของทั้ง 3 ราย ยังเป็นบวกต่อไทย

เนื่องจากเมื่อเทียบกับการลงทุนในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ภาวะหนักกว่ามาก แต่ประเทศไทย พบการพัฒนาบ้านหรู ยังขายได้ดี ไฮไลท์ปีนี้ คือ โครงการ Lake Legend บางนา สุวรณภูมิ มูลค่า 5.1 พันล้านบาท ราคา 50-100 ล้าน  ส่วนคอนโดฯ จะหยุดพัฒนา เนื่องจากยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ จึงต้องดู แผนการกระจายวัคซีน ว่าทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้หรือไม่ ทั้งนี้ พันธมิตรต่างชาติ ระบุ ไม่ได้กังวล หากโปรเจ็กต์ อยู่ในทำเลที่ดี ก็สามารถไปได้ แม้ว่าซัพพลายจะเยอะก็ตาม

“ธุรกิจทั่วโลก ปี 64 ยังต้องประคับประคองต่อ ขณะไทย เราอาจมีแผนการฉีดวัคซีนช้าเกินไป แม้พยายามจะเร่งแล้ว คาดเมื่อวัคซีนกระจายได้ทั่วถึงในเมืองท่องเที่ยว และกรุงเทพฯได้ครบ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา ก็จะมีผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาฯ” 

ธุรกิจใหม่ประคองโรงแรม 

จากภาวะดังกล่าว จะทำให้ ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวได้ แม้บางคนมองอาจต้องใช้เวลาราว 3-5 ปี แต่ส่วนตัวมองว่า การอั้นการเดินทางทั่วโลก ที่เกิดขึ้นมามากกว่า 1 ปี คาดต้นปี 2565 จะกลับมาพีคมาก แต่ธุรกิจต้องมีการปรับตัว เชื่อโรงแรมไหน มีโลเคชั่นที่ดี จะได้รับประโยชน์ โดยเชื่อมั่นโรงแรมในกลุ่มแกรนด์ แอสเสท ที่มีที่ตั้ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใจกลางเมือง (นานา) แม้แต่ต่างจังหวัด ก็อยู่ในระดับการเดินทางที่เหมาสม จะทำให้เรากลับมาเติบโตได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ คือ โอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ ที่มีความต้องการสูงมากทั่วโลกหลังโควิด อย่าง “ถุงมือยาง” จากผู้เล่นในตลาดน้อยราย และอยู่ระหว่างการขอ บีโอไอ เพราะโรงงานตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าราว 95% ส่งออกนอกประเทศ กำลังการผลิตโรงงานแรก 21 ล้านกล่องต่อปี ผ่านราคาเติบโตดี อยู่ที่ 7-8 ดอลลาร์ต่อกล่อง (100 ชิ้น) คาดจะเป็นธุรกิจที่โตพุ่งต่อเนื่องไปอย่างน้อย 2 ปี และมีกำไรไม่ต่ำกว่า 40% เพราะแม้โควิดจะจบลง แต่การใช้ถุงมือยาง นอกจากโรงพยาบาล ร้านอาหาร โรงแรม สายการบิน ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ วางเป้ารายได้ให้บริษัทระยะต่อไปราว9 พัน ถึง 1 หมื่นล้านบาท 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564