เบอร์ใหญ่รับสร้างบ้าน ชิงลูกค้าธุรกิจพันล้าน 

14 เม.ย. 2564 | 06:50 น.

ตลาดรับสร้างบ้านแข็ง ทนพิษเศรษฐกิจ 3 เดือนแรกแนวโน้มดี ขาใหญ่ ส้มหล่น หลังลูกค้าหวั่น ผู้รับเหมา-บริษัทโนเนม ทิ้งงาน แห่วิ่งหาบริษัทดังเชื่อถือได้  ส่งยอดขาย แลนดี้โฮม-ซีคอน พุ่งสวนกระแสโควิด เดินหน้าชิงเค้ก ลูกค้าเศรษฐี เงินเย็น เจ้าของธุรกิจพันล้าน-แพทย์ งัดที่ดิน สั่งปลูกสร้างบ้านหรูหลังใหญ่ 10-15 ล้านอัพ  แข่งเดือดกลยุทธ์บริการครบวงจร-นวัตกรรม Health & Hygiene

 

ตลาดบ้านสร้างเอง ซึ่งมีมูลค่าต่อปีราว  2 แสนล้านบาท โดยพื้นที่ กทม.- ปริมณฑล มักถูกผลักดันโดยยอดขายที่เกิดขึ้นจากบริษัทรับสร้างบ้านรายเล็ก-รายใหญ่ ขณะต่างจังหวัด เติบโตมหาศาล ผ่านผู้รับเหมามากรายนั้น พบที่ผ่านมา ตลาดเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากลูกค้าผู้ปลูกสร้างบ้าน ส่วนใหญ่มีที่ดินเป็นของตนเอง  วางแผนทางการเงินล่วงหน้าเป็นเวลานาน และมีสินทรัพย์กู้ค้ำง่าย ทำให้แม้แต่ในปีวิกฤติ 2563 ซึ่งเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดยังไปต่อได้ 

ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน เมื่อปี 2563 มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท (ตัวเลขจาก 2 สมาคมหลัก) ที่เกิดขึ้น แม้มีการยกเลิกจัดงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2020 ไปถึง 2 ครั้ง อีกทั้งยังไร้ซึ่ง มาตรการกระตุ้นสนับสนุนจากรัฐ ต่างจากตลาดโครงการที่อยู่อาศัยหลัก โดยเกิดภาพตลาดชะลอตัวราว 5% เท่านั้น 

ขณะปีนี้ งานแรกของปี “รับสร้างบ้าน FOCUS 2021” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา พบตลอดงาน 5 วัน มีจองปลูกสร้างบ้านทะลุเป้า 2.1 พันล้านบาท และอีกแง่ความน่าสนใจ คือ พบบ้านระดับราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป มีสัดส่วนมากถึง 38% ไม่ต่างจากบ้านระดับราคา 10-20 ล้านบาท ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้สะท้อนว่า ลูกค้าของตลาดรับสร้างบ้าน มีกำลังซื้อสูง ทนทานต่อสภาพเศรษฐกิจในทุกรูปแบบ 

ด้านเบอร์ใหญ่ของตลาดกทม.-ปริมณฑล อย่างบริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด โดยนางสาวพรรัตน์ มณีรัตนะพร ผู้อำนวยการฝ่ายขาย เผย ช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายเติบโตสวนกระแสโควิด 15% อยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท ขณะปีนี้ คาดว่า จากกำลังซื้อและความต้องการ ยิ่งในเฉพาะสถานการณ์โควิด ที่ส่งผลให้ลูกค้าพิจารณาบริษัทรับสร้างบ้านรายใหญ่ มากกว่ารายย่อยจะทำให้บริษัทเติบโตได้อีกราว 15% ที่ 2.4 พันล้านบาท โดยเฉพาะยอดขายที่มาจาก ตลาดกทม. ผ่าน 3 แบรนด์แบบบ้าน Trendy Home (บ้านหลังเล็ก ราคา 2-5 ล้านบาท), Landy Home (บ้านขนาดกลาง ราคา 5 -15 ล้านบาท) และ Landy Grand (บ้านขนาดใหญ่ ราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป) 

เปิดศึก2 เบอร์ใหญ่ บริษัทรับสร้างบ้าน

อย่างไรก็ตาม คาดเซ็กเมนต์ที่จะเป็นตัวผลักดันยอดขายได้ดี คือ ตลาดบ้านหรู หลังใหญ่ ราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป (Landy Grand)  ซึ่งมีอัตราการเติบโตขึ้นในทุกๆ ปี แม้เศรษฐกิจไม่ดี โดยบริษัทจะขยับจากตลาดระดับกลาง-บน รุกตลาดไฮเอนด์มากขึ้น 

ล่าสุดนำร่องทุ่มงบลงทุน 20 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่ “เซลล์ แกลอรี่ แลนดี้ แกรนด์ แฟล็กชิฟ สโตร์” สำหรับการเจาะกลุ่มนิชมาร์เก็ต กลุ่ม B+ ถึง A ย่านราชพฤกษ์ ฝั่งธนบุรี หลังมองว่า เป็นพื้นที่ ที่มีฐานลูกค้ากลุ่มเจ้าของโรงงาน นักธุรกิจรายได้หลักพันล้านบาท หนาแน่น รายล้อมไปด้วยเศรษฐี โครงการบ้านหรูตลอดแนว 2 ฝั่งถนน 

อีกทั้งพบ ย่านดังกล่าว มีที่ดินว่างเปล่าแปลงใหญ่หลายแห่ง ราคาไม่สูงมาก รองรับ ซึ่งการบริการที่ครบวงจร และมีแบบบ้านมากกว่า 10 แบบ จะกระตุ้นความต้องการลูกค้ากลุ่มดังกล่าวได้ ตั้งเป้ายอดขายจากสาขานี้ 300-400 ล้าน และอยู่ระหว่างลงทุนขยายสาขาที่ลาดพร้าวอีก 20 ล้านบาท

“ปีนี้คาดจะกินแชร์บริษัทรายย่อยได้มากขึ้น จากความไม่มั่นใจของลูกค้า เพราะโควิดทำให้ รับเหมาเสี่ยงปิดตัวลง ขณะแลนดี้ โฮม มีทุนจดทะเบียนสูง ลูกค้าให้ความเชื่อใจ เป็นโอกาสทางธุรกิจ ส่วนกลยุทธ์ นอกจากแบบบ้านหรู เทคโนโลยีสมาร์ทโฮม นวัตกรรม CAP+ อากาศบริสุทธิ์ กรองฝุ่น เชื้อโรค ในยุคโควิด จะเป็นจุดขายของบริษัท” 

อีกเบอร์ใหญ่ของตลาดรับสร้างบ้าน ซึ่งดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน 60 ปี รายแรกของไทย อย่างบริษัท ซีคอน จำกัด โดยนายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท เผยทิศทางการดำเนินธุรกิจ แม้ปีที่ผ่านมาตลาดรวมชะลอตัวลง จากงานแฟร์และอีเว้นท์ไม่สามารถจัดขึ้นได้ แต่เชื่อมั่นว่า ปีนี้ตลาดรับสร้างบ้านยังเติบโตได้ต่อ โดยเฉพาะบ้านขนาดใหญ่ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป หลังจากปีที่ผ่านมา สัดส่วนยอดขายของบริษัทเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมเป็นพอร์ตราว 30% เท่านั้น แต่ปัจจุบันบ้านแพงเข้ามาแทนที่กลุ่มบ้านหลังเล็ก 2-4 ล้านบาท ที่หายไปจากตลาด เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนถึง 60% โดยลูกค้ากำลังซื้อสูงยุคโควิด มีหลากหลายอาชีพ แต่ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มแพทย์ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโรค บางรายมีอายุไม่ถึง 40 ปี แต่สามารถปลูกสร้างบ้านหลัก 10 ล้านบาทได้ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตลาดรับสร้างบ้าน เปรียบเหมือนเรดโอเชี่ยน การแข่งขันรุนแรง บริษัท จึงแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในบลูโอเชี่ยน ที่มีโอกาสและการแข่งขันน้อยกว่าในกลุ่มบ้านราคาแพง ในลักษณะเข้าไปรับช่วงต่อจากงานออกแบบของสถาปนิก หรือ ออกแบบและสร้างบ้านฟรีสไตล์ ตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก นอกจากแบบบ้านที่มี ผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ Seacon ID เนื่องจากที่ผ่านมาลุกค้ามีความต้องการสูง เป็นการควบทั้งออกแบบและก่อสร้างครบวงจร โดยตั้งยอดขายที่จะเพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ราว 200 ล้านบาท ภายใต้เป้ายอดจองสร้างปีนี้ 1.7 พันล้านบาท 

“ตลาดรับสร้างบ้าน จัดเป็นอสังหาฯ ที่คนต้องการสร้างความมั่นคงให้ชีวิต ฉะนั้นความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ เราอยู่มานาน ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ยิ่งในยุคที่ลูกค้ากังวลการทิ้งงาน ยิ่งเป็นโอกาส อาศัยจุดแข็ง รับประกันโครงสร้าง 20 ปี มั่นคง แข็งแรง เซกเม้นท์บ้านใหญ่แม้กำไรน้อย แต่มูลค่าสูง ทดแทนกลุ่มลูกค้าลูกจ้างประจำ บ้านหลังเล็กที่หายไปจากตลาดได้ดี” 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,665 วันที่ 28 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง