"จุฬาฯ" เปิดทางทุนยักษ์  พัฒนา‘สกาลา’ ไข่แดงสยามสแควร์ 

15 ก.ค. 2563 | 03:55 น.

สำนักทรัพย์สินจุฬา ดึงเอกชนพัฒนายกเวิ้งที่ดินบล็อกเอ พลิกโฉมอาคารพาณิชย์เก่า รวมโรงหนังสกาลา ซูเปอร์ทองคำฝังเพชรไข่แดงสยามสแควร์ หลังผู้บริหารสวนนงนุชปิดฉากอำลาโรง ก่อนหมดสัญญาธ.ค.นี้ จากพิษโควิด

ไม่ถึง 1 เดือนที่ราชาโรงหนังแห่งสยาม “สกาลา” ปิดฉากอำลาเหลือไว้เพียงตำนาน ที่ดินทองคำฝังเพชร สยามสแควร์ แลนด์มาร์คแห่งความมั่งคั่ง ต้องลุกเป็นไฟอีกครั้งเมื่อสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แลนด์ลอร์ดใหญ่ สถานศึกษามีแผน นำที่ดินเปิดสรรหากลุ่มทุนรายใหม่พัฒนา สร้างรายได้ตามรอยโรงหนังรุ่นพี่ๆ อย่างลิโด้ ที่หมดอายุสัญญาลง เมื่อปี 2561

สถาปัตยกรรมเก่าแก่อันทรงคุณค่า กว่า 50 ปีถูกขอดเกล็ดเนรมิตเป็นย่านนวัตกรรม แหล่งรวมคนรุ่นใหม่ ขณะโรงหนังสยาม หลังถูกไฟไหม้จากเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อ 10 ปีก่อน ปัจจุบันกลายเป็นจุดศูนย์รวมการช็อปปิ้ง ข้ามกาลเวลาสู่ยุคดิจิทัล สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับจุฬาฯ นำมาสนับสนุนการศึกษาต่อยอดการพัฒนาโดยเฉพาะเมืองอัจฉริยะ 1,153 ไร่ที่อยู่ระหว่างหาพาร์ทเนอร์

เมื่อย้อนไปพื้นที่สกาลา ผู้บริหารสวนนงนุช ตัดสินใจเลิกสัญญาก่อนกำหนดและฉายหนังรอบปฐมฤกษ์อำลาโรง วันที่ 5 กรกฎาคม 2563 หลังต่อสัญญา เมื่อปี 2561 และจะสิ้นสุดสัญญา ธันวาคม 2563 เมื่อพิษโควิดเล่นงาน จนทนไม่ไหวจึงโบกมือกลางคัน

ทั้งนี้ แผนพัฒนาผู้บริหารสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ระบุว่า สำนักฯ เตรียมตั้งทีมบริหารพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่บล็อก A เนื้อที่มากกว่า 10 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่สยามสแควร์ ไล่ตั้งแต่บริเวณโค้งทางลงสถานีบีทีเอส บรรจบฝั่งตรงข้าม ห้างเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ใกล้กับโครงการสยามสเคปที่จุฬาฯอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งบริเวณนี้มีตึกแถวเก่าสภาพทรุดโทรมจำนวนมากใกล้จะหมดสัญญาในปีนี้ รวมทั้งโรงหนังสกาลา ซึ่งจะนำมาพัฒนาใหม่

โดยดึงเอกชนที่สนใจเช่าพื้นที่ แต่ทั้งนี้จะกำหนดรูปแบบการพัฒนา ว่าเป็นลักษณะใดที่จะมาแทนที่โรงหนังสกาลา เพื่อให้สอดรับกับความต้องการปัจจุบัน ขณะมูลค่าที่ดินย่านสยามสแควร์ พุ่งสูงตารางวา 3 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 3.3 ล้านบาทต่อตารางวา ตามที่บริษัทวิจัยเอกชนประเมินไว้ เนื่องจากเป็นย่านช็อปปิ้งขนาดใหญ่ มีโรงแรม อาคารสำนักงาน มีคนเข้าใช้สอยพื้นที่อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเชื่อมโยงโดย รถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นแม่เหล็กสำคัญมีสถานศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเจ้าของพื้นที่ ทำให้ย่านสยามสแควร์อบอวลไปด้วย วันรุ่นคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อมารวมตัวกันทั้งกวดวิชา การแสดงออกทางความคิด การช็อปปิ้ง จับจ่าย ณจุดนี้

ขณะการพัฒนา ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องสำหรับที่ดินจุฬา ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า ที่ดินตรงข้ามเอ็ม บี เคเซ็นเตอร์ บนพื้นที่ 4-5 ไร่อยู่ระหว่างก่อสร้างเป็นที่จอดรถรองรับคนเดือนทางเข้าเมือง ช็อปปิ้งสยามสแควร์ 700 คัน และอาคารสำนักงาน มูลค่า 1,800 ล้านซึ่งจุฬาฯลงทุนเอง และโรงหนังสกาลาที่จะได้รับความสนใจจากเอกชนอย่างแน่นอน

  "จุฬาฯ" เปิดทางทุนยักษ์  พัฒนา‘สกาลา’ ไข่แดงสยามสแควร์ 

แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเมินว่า ทำเลที่ว่าเป็นอาณาจักรของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เคยได้ที่ดินแปลงเซ็นเตอร์พอยท์เก่า พัฒนาเป็นดิจิทัลเซ็นเตอร์พอยท์เกตย์เวย์สยาม แหล่งรวมซูเปอร์แบรนด์ล้ำสมัย และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้เปิดสามย่านมิตรทาวน์ มิกซ์ยูส 2.2 แสนตารางเมตรบนที่ดินเช่าของจุฬา ขณะหัวมุมถนนพระราม 4 เจ้าสัวอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการวันแบงค็อก, เดอะพาร์ค บนที่ดินทรัพยสินพระมหากษัตริย์ และปรับโฉมศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บนที่ดินที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ในขณะนี้

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวถึงการอำลาของโรงภาพยนตร์สกาลา ที่สยามสแควร์ ว่า ย้อนอดีตสยามสแควร์ “เป็นศูนย์การค้าเปิดโล่งแนวราบในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 63 ไร่ ตั้งอยู่บนหัวมุมถนนพญาไท และถนนพระรามที่ 1 อยู่ในความดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

สำหรับที่ดินบริเวณก่อนการสร้างสยามสแควร์ “ในช่วงปี 2505 ที่ดินย่านนั้นเป็นสวนผัก เป็นชุมชนแออัด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ชาวบ้านจึงต้องออกจากพื้นที่ และนิสิตจุฬาฯ ช่วยกันคุมพื้นที่ไม่ให้ชาวบ้านกลับเข้ามาและในขณะนั้นอธิการบดีจุฬาฯ คือ พล.อ. ประภาส จารุเสถียร มีแผนพัฒนาที่ดินบริเวณสยามสแควร์ให้เป็นแหล่งค้าขายเพื่อป้องกันการบุกรุก”

ปี พ.ศ. 2507 จุฬามอบหมายให้บริษัท เซาท์อีสท์เอเซียก่อสร้าง (ซีคอน) พัฒนาที่ดินขนาด 63 ไร่ ขึ้นเป็นศูนย์การค้าแนวราบ เปิดโล่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ สูง 3-4 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านค้า ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย จำนวน 550 ห้อง มีโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง มีไอซ์สเก็ตติ้ง และเพิ่มเป็น 610 ห้องในเวลาต่อมา ซึ่งจุฬาให้สิทธิซีคอนเก็บผลประโยชน์ 10 ปี จากนั้นจุฬา เป็นผู้เก็บผลประโยชน์ต่อ” 

หน้า 19-20  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563