ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (9) วัตถุดิบพลังงานทดแทน

01 ส.ค. 2564 | 03:30 น.

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (9) วัตถุดิบพลังงานทดแทน : คอลัมน์เศรษฐทัศน์ โดย รศ.(พิเศษ) ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,701 หน้า 5 วันที่ 1 - 4 สิงหาคม 2564

บทความในตอนที่ 9 นี้ เป็นตอนต่อจากคราวที่แล้ว ซึ่งสรุปสาระสำคัญของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ. ศ. 2561-2580 ของกระทรวงพลังงานไปบางส่วนแล้ว ในตอนนี้จะกล่าวถึงศักยภาพวัตถุดิบพลังงานทดแทนในประเทศ ทั้งในส่วนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและในส่วนที่เป็นรูปแบบใหม่ๆ 

 

1. ศักยภาพวัตถุดิบพลังงานทดแทนประเภทเดิม 

 

1.1 ชีวมวล 

 

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ประเมินศักยภาพชีวมวลจากเศษวัสดุทางการเกษตรในประเทศในปี พ.ศ. 2561 โดยแบ่งออกเป็นชีวมวลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และชีวมวลที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่เพาะปลูกดังนี้ 

 

• ชีวมวลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาทิเช่น กากอ้อยจากอุตสาหกรรมนํ้าตาล แกลบจากโรงสีข้าว ใยปาล์มและทะลายปาล์มเปล่าที่ได้จากอุตสาหกรรมสกัดนํ้ามันปาล์มดิบ เป็นต้น ชีวมวลเหล่านี้ส่วนใหญ่นำไปใช้เพื่อผลิตพลังงาน หรือจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงแล้วเกือบทั้งหมด เช่น กากอ้อยถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและไอนํ้าในอุตสาหกรรม นํ้าตาลหรือแกลบที่เกิดขึ้นในโรงสีข้าวขนาดใหญ่ถูกจำหน่ายให้โรงไฟฟ้าชีวมวลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

 

• ชีวมวลที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่เพาะปลูก จะเกิดจากชีวมวลส่วนที่เหลือภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร ได้แก่ เหง้ามันสำปะหลัง ฟางข้าว ยอดและใบอ้อย ตอและรากไม้ยางพารา เป็นต้น ชีวมวลเหล่านี้ไม่นิยมนำมาผลิตพลังงานเนื่องจากมีต้นทุนสูงในการรวบรวมและขนส่งจากพื้นที่เพาะปลูกไปยังสถานที่ใช้งานที่อยู่ห่างไกล ชีวมวลเหล่านี้จึงมักถูกทิ้งไว้ในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นสารปรับปรุงดิน หรือถูกเผาทำลายในพื้นที่เพาะปลูก

 

จากข้อมูลสรุปไว้ว่า ในปี 2560 ชีวมวลในประเทศทุกประเภทชีวมวลที่เกิดขึ้นมีขนาดถึง 296.34 ล้านตัน/ปี ในขณะที่ชีวมวลที่ถูกนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม มีขนาด 18.2 ล้านตัน/ปี ในภาคอุตสาหรรม 118.34 ล้านตัน/ปี ทำให้มียอดคงเหลือประมาณ 159.80 ล้านตัน/ปี ซึ่งหากนำไปพัฒนาหาวิธีใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกก็จะเพิ่มปริมาณพลังงานทดแทนในประเทศได้ 

 

1.2 ขยะ

 

กรมควบคุมมลพิษได้แสดงข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศในปี 2561 พบว่ามีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.93 ล้านตัน หรือประมาณ 76,529 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวของชุมชนเมือง การส่งเสริมการท่องเที่ยว การบริโภคที่มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยในหลายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีนโยบายให้ทุกจังหวัด รวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองท้องถิ่นจำนวนกว่า 7,800 แห่งทั่วประเทศ โดยแบ่งกลุ่มพื้นที่ตามปริมาณขยะรวม 324 กลุ่มดังนี้

 

(1) กลุ่มพื้นที่การจัดการมูลฝอยขนาดใหญ่ ขยะมากกว่า 500 ตันต่อวัน จำนวน 10 กลุ่ม

 

(2) กลุ่มที่พื้นที่การจัดการมูลฝอยขนาดกลาง ขยะ 300-500 ตันต่อวัน จำนวน 11 กลุ่ม 

 

(3) กลุ่มพื้นที่การจัดการมูลฝอยขนาดเล็ก ขยะน้อยกว่า 300 ตันต่อวัน จำนวน 303 กลุ่ม

 

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (9)  วัตถุดิบพลังงานทดแทน

 

กระทรวงมหาดไทยได้ประเมินสถานะโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าของกลุ่มพื้นที่จำนวน 56 โครงการว่ามีศักยภาพในการผลิต ไฟฟ้า เพื่อขายเข้าสู่ระบบสายส่งภายในปี พ.ศ. 2568 จำนวน 400 เมกะวัตต์ กลุ่มพื้นที่ที่เหลืออาจมีศักยภาพในการรวบรวมขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานประเภทอื่นๆ ได้แก่พลังงานความร้อน และนํ้ามันไพโรไลซิสจากขยะพลาสติก เป็นต้น 

 

ที่ผ่านมามีการนำขยะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานความร้อน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ที่นำขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel : RDF) ไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงจากถ่านหินบางส่วนในกระบวนการผลิต ความต้องการใช้ RDF จะขึ้นอยู่กับราคาถ่านหิน หากถ่านหินมีราคาสูงปริมาณการใช้ RDF ก็จะสูงตามไปด้วย 

 

ในส่วนของขยะอุตสาหกรรม ข้อมูลจากสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่าในปี 2560 มีกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย 32.95 ล้านตัน และกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย 1.95 ล้านตัน การนำขยะอุตสาหกรรมมาผลิตเป็นพลังงานด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้นำขยะอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการขยะที่ถูกต้องด้วย

 

1.3 ก๊าซชีวภาพ

 

แหล่งผลิตก๊าซชีวภาพที่สำคัญ คือ นํ้าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่มีสารอินทรีย์เป็นองค์ประกอบหลักที่เมื่อถูกย่อยสลายด้วยกระบวนการทางชีวภาพในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ทำให้เกิดก๊าซชีวภาพที่มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบสำคัญ สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม นํ้ามันเตา และไฟฟ้าในกระบวนการผลิต ที่ผ่านมาโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและฟาร์มปศุสัตว์ได้นำก๊าซชีวภาพจากนํ้าเสีย ของเสียมาใช้ประโยชน์ เพื่อผลิตเป็นพลังงานแล้วเป็นส่วนใหญ่ 

 

ช่วยลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการและสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือ นํ้าเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดแบบไม่ใช้ออกซิเจนจะมีคุณภาพนํ้าที่ดีขึ้น จึงช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบโรงงานและฟาร์มปศุสัตว์ได้อีกด้วย

 

จากข้อมูลพบว่าในปี 2561 มีก๊าซชีวภาพ นํ้าเสีย อุตสาหกรรมและฟาร์มปศุสัตว์ทั้งสิ้น 3,609 ล้านลูกบาตรเมตรต่อปีที่ผลิตได้  และมีปริมาณก๊าซชีวภาพที่ถูกนำไปใช้ผลิตพลังงานแล้ว 2,470 ล้านลูกบาตรเมตรต่อปี จึงคงเหลือสิ่งที่เรียกว่าปริมาณศักยภาพก๊าซชีวภาพคงเหลือประมาณ 1,139 ล้านลูกบาตรเมตรต่อปี 

 

1.4 ไบโอดีเซล 

 

สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบันนํ้ามันปาล์มเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล การประเมินศักยภาพวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล พิจารณาตามการทบทวนยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์มทั้งระบบ โดยตามแผนจะไม่ขยายพื้นที่ปลูก แต่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตซึ่งสรุปได้ดังนี้ 

 

• เพิ่มเปอร์เซ็นต์นํ้ามันซึ่งในปี 2563 อยู่ในระดับ 19% และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปลายแผนปี 2580 เป็น 23%

 

• เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ปลายแผนมีเป้าหมายเป็น 3.7 ตัน/ไร่/ปี 

 

• เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขยายพื้นที่ในระบบแปลงใหญ่ และกลุ่มผลิตปาล์มนํ้ามันคุณภาพ 

 

ทั้งนี้เป้าหมายการผลิตไบโอดีเซลจากนํ้ามันปาล์มจะเพิ่มเติมจาก 4.88-7.44 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงปี 2561-2565 เป็น 10.46-10.96 ล้านลิตร/วัน ในช่วงปี 2576-2580

 

1.5 ไบโอเอทานอล

 

ผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินที่เหลือใช้จากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกแล้วสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอเอทานอลเชิงพาณิชย์ ได้แก่ กากนํ้าตาลซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตนํ้าตาลจากอ้อยและมันสำปะหลัง จึงต้องพิจารณายุทธศาสตร์เกี่ยวกับสินค้าเกษตรดังกล่าว

 

(1) ยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง พ.ศ. 2558-2569 มีเป้าหมายคงพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 8.5 ล้านไร่ และเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังจาก 3.5 ตัน/ไร่/ปี ในปี 2557 เป็น 5 ตัน/ไร่/ปี ในปี 2562 และ 7 ตัน/ไร่/ปี ในปี 2569  ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเป็น 42.5 ล้านตัน และ 59.5 ล้านตันในปี 2562 และปี 2569 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้มีระดับผลผลิตส่วนเกินที่เหลือมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตไบโอเอทานอลได้มากขึ้น

 

(2) ยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและนํ้าตาลทราย พ.ศ. 2558-2569 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 10 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ โดยคาดว่าจะให้ผลผลิตอ้อยได้ 182 ล้านตันในปี 2569 ปริมาณกากนํ้าตาลที่คาดว่าจะใช้ผลิตไบโอเอทานอลได้ ประเมินโดยคำนึงถึงกากนํ้าตาลที่ใช้ในการบริโภคในประเทศแล้ว เช่น ในการผลิตสุรา อาหารสัตว์และผงชูรส เป็นต้น และในอนาคตจะมีการใช้นํ้าอ้อยหรือนํ้าเชื่อมมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลด้วย

 

เป้าหมายในการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ถูกคาดหมายว่าจะเพิ่มจาก 1.19 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2561 เพิ่มเป็น 2.50 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2569 ในส่วนของกากนํ้าตาลจากอ้อยซึ่งในปี 2561 สามารถผลิตเอทานอลได้ 2.87 ล้านลิตรต่อวัน ถูกคาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้น 4.72 ล้านลิตรต่อวันในปี 2569 

 

2. ศักยภาพการจัดหาวัตถุดิบพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ๆ

 

ไม้โตเร็ว

 

ชีวมวลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อผลิตพลังงานหรือจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงแล้วเกือบหมด ในขณะที่ชีวมวลส่วนที่เหลือภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกก็ไม่เป็นที่นิยมในการนำมาใช้ผลิตเป็นพลังงาน

 

เนื่องจากมีต้นทุนในการรวบรวมและขนส่งสูง ทำให้ชีวมวลที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้จึงมีอยู่อย่างจำกัด การปลูกต้นไม้โตเร็ว จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้ในอนาคต โดยเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถจัดหาได้ในปริมาณมากและคงที่ถูกฤดูกาลตลอดปีจากพันธุ์ไม้โตเร็วที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ 

 

จากข้อมูลพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกต้นไม้โตเร็วทั่วประเทศว่ามีศักยภาพราว 51 ล้านไร่ พื้นที่ที่พิจารณาประกอบไปด้วย นาดอนนอกเขตชลประทาน (19 ล้านไร่) พื้นที่ทำไร่ผลผลิตตํ่า (6.1 ล้านไร่) พื้นที่ที่รัฐบาลมีนโยบายปลูกพืชทดแทน (4.2 ล้านไร่) พื้นที่ทิ้งร้าง นาร้างและรกร้างว่างเปล่า (10 ล้านไร่) พื้นที่ที่ดิน ส.ป.ก(1.7 ล้านไร่) ที่ดินป่าเสื่อมโทรมของกรมป่าไม้ (10 ล้านไร่) ซึ่งรวมแล้วคาดการณ์ว่าจะมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้า 10,200-25,500 เมกะวัตต์